ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเชื่อมต่อโครงข่ายด้านคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงฐานการผลิตและแหล่งอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเชื่อมต่อโครงข่ายด้านคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงฐานการผลิตและแหล่งอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ครั้งที่ 3/2565 โดยมี นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร การรถไฟแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม

ตามนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาโครงข่ายคมนาคม เชื่อมต่อให้เกิดการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งของประเทศโดยรวมและปรับเปลี่ยนระบบการขนส่งไปยังระบบรางมากขึ้น ซึ่งนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาพัฒนาการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่มีอยู่ในปัจจุบันและอนาคตให้สามารถใช้ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุดและให้บริการประชาชนได้เพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ

กระทรวงคมนาคมจึงร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณาแนวทางการพัฒนาโครงข่ายด้านคมนาคมขนส่งทั้งทางราง ทางถนน เชื่อมโยงสู่ฐานการผลิตและแหล่งอุตสาหกรรมทั้งที่เป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ทั้งที่เป็นของรัฐและเอกชน รวมถึงสถานีขนส่งสินค้าและศูนย์กระจายสินค้า ซึ่งอยู่ระหว่างการเดินหน้าศึกษาข้อมูลรายละเอียดจากทุกหน่วยงาน โดยที่ประชุมได้หารือถึงการดำเนินโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนและผลักดันโครงการนิคมอุตสาหกรรมจากการคัดเลือกโครงการนิคมอุตสาหกรรมในแต่ละภูมิภาค สู่การพิจารณารูปแบบการขนส่งสินค้าที่เหมาะสมในแต่ละนิคมและกำหนดแนวทางเชื่อมต่อโครงข่ายระบบราง โดยได้คัดเลือกโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีเป็นโครงการนำร่อง ซึ่งปลัดกระทรวงคมนาคมได้มอบแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ เป็นต้นแบบกับทุกนิคมอุตสาหกรรมทุกมิติของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งถนนและรางทั้งหมดต้องมีความปลอดภัย ไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชาชนโดยรอบพื้นที่โครงการและประชาชนผู้ใช้เส้นทางเดิม รวมทั้งความสะดวกในการเข้าถึงและความคล่องตัวของปริมาณจราจรที่จะเกิดขึ้น พร้อมทั้งก่อให้เกิดระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ