กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 24 มิถุนายน 2565 ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565

1.1 กรมเจ้าท่า ดำเนินการขุดลอกแม่น้ำแม่มอก บริเวณตำบลไทยชนะศึก อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย และขุดลอกแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณตำบลน้ำทรง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำป้องกันปัญหาอุทกภ้ยในฤดูฝน และเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำในฤดูแล้ง รวมถึงแก้ปัญหาแม่น้ำตื้นเขิน

1.2 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุ เพื่อรับมือสถานการณ์อุทกภัย และบูรณาการแผนรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ สำนักงานชลประทานที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี

2. สภาพอากาศ
การคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 25 – 27 มิ.ย. 65 ลมใต้พัดปกคลุมภาคกลางตอนล่างรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนอง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้

ส่วนในช่วงวันที่ 28 – 29 มิ.ย. 65 ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ ประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้

3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ

แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ 44,551 ล้าน ลบ.ม. (54%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่งปริมาณน้ำ 38,852 ล้าน ลบ.ม. (54%) ขนาดกลาง 355 แห่ง ปริมาณน้ำ 3,253 ล้าน ลบ.ม. (59%) และขนาดเล็ก139,894 แห่ง ปริมาณน้ำ 2,446 ล้าน ลบ.ม. (48%) โดยมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักต่ำสุด (Lower Rule Curve) ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแม่จาง และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์เก็บกักสูงสุด (Upper Rule Curve) ได้แก่ เขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา และเขื่อนน้ำพุง

4. สถานการณ์น้ำท่า

สถานการณ์น้ำในแม่น้ำต่าง ๆ อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยถึงปกติ ภาคเหนือ มีแนวโน้มทรงตัว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก มีแนวโน้มลดลง ส่วนภาคกลางและภาคใต้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์

เนื่องในโอกาส กรมอุตุนิยมวิทยาครบรอบ 80 ปี จึงได้จัดการสัมมนาวิชาการ เรื่อง “ตระหนักรู้ อยู่ฉลาด กับภูมิอากาศที่รุนแรง หรือ Awareness and Smart Living Under Extreme Climate” เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลผลผลิต รวมถึงการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศ เพื่อการบริหารจัดการและเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคตต่อไป