นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น กรุงเทพฯ (JETRO Bangkok) และหอการค้าญี่ปุ่น – กรุงเทพฯ (JCCB) เข้าพบเพื่อร่วมหารือ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น กรุงเทพฯ (JETRO Bangkok) และหอการค้าญี่ปุ่น – กรุงเทพฯ (JCCB) เข้าพบเพื่อร่วมหารือพัฒนาแนวทางในการสนับสนุนการดำเนินการภาคธุรกิจของภาคเอกชนญี่ปุ่นในประเทศไทย

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (คค.) ให้ Mr. Atsushi Taketani ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น กรุงเทพฯ (JETRO Bangkok) และ Mr. Takeo Kato ประธานหอการค้าญี่ปุ่น – กรุงเทพฯ (JCCB) พร้อมคณะผู้บริหาร JCCB เข้าพบ เพื่ออำลาในโอกาสที่ Mr. Mr. Atsushi Taketani จะพ้นจากหน้าที่และร่วมหารือพัฒนาแนวทางในการสนับสนุนการดำเนินการภาคธุรกิจของภาคเอกชนญี่ปุ่นในประเทศไทย

โดยมี นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสุขสมรวย วัทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม ร่วมหารือ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 ณ ห้องประชุม กระทรวงคมนาคม

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า JETRO Bangkok และ JCCB ได้รายงานผลสำรวจความเห็นของเอกชนญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทย พร้อมเสนอข้อคิดเห็นจากภาคเอกชนญี่ปุ่นที่ลงทุนในประเทศไทย มีประเด็นความสนใจของภาคเอกชน เช่น การพัฒนารถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และการพัฒนาโครงการต่าง ๆ โดย คค. ได้นำเสนอการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทยในปัจจุบัน ประกอบด้วย ทางถนน ทางระบบราง ทางน้ำ และทางอากาศ ได้แก่ การพัฒนาด้านระบบรางภายใต้แผนแม่บท MR-Map รถไฟฟ้าสายสีแดง (Commuter Train: Redline) ระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระบบรถไฟรางคู่ (Double Track) และรถไฟความเร็วสูง (High Speed Rail) เพื่อเชื่อมต่อ 3 สนามบินและประเทศเพื่อนบ้าน

การพัฒนาการขนส่งทางน้ำ ประเทศไทยอยู่ระหว่างการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังโดยปรับใช้เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ การพัฒนาทางอากาศโดยรัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เปิดโอกาสให้นักลงทุนชาวต่างชาติเดินทางมาทำธุรกิจในไทยหลังจากการปิดประเทศเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การพัฒนาสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางด้านการบินในอาเซียนภายในปี ๒๕๗๔ และการพัฒนาทางถนนโครงการ Landbridge และการบูรณาการแผนพัฒนารถไฟทางคู่และรถไฟทางเร็วสูงทั่วประเทศ

โดยเฉพาะโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และส่วนต่อขยายทางยกระดับช่วงนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (M7) และได้เน้นย้ำถึงความสำพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่นและไทย ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกันมายาวนาน ซึ่ง คค. พร้อมเดินหน้าโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนการพัฒนาสาธารณูปโภคเชื่อมโยงพื้นที่ EEC ที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงดำเนินมาตรการกระตุ้นการลงทุนของภาครัฐและเอกชน และเร่งพัฒนาความร่วมมือส่งเสริมในทุกด้านโดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์และการเชื่อมต่อการเดินทางกับประเทศเพื่อนบ้าน