กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยยอดการใช้สิทธิ FTA นำเข้า-ส่งออก ในปี 2560 เพิ่มขึ้น โดยมีการใช้สิทธิ FTA ในการนำเข้า 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7% ขณะที่ใช้สิทธิ FTA เพื่อส่งออกสูงกว่าสองเท่า มูลค่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15% แนะผู้ประกอบการเร่งใช้สิทธิ สามารถตรวจสอบอัตราภาษี และสิทธิ FTA ที่เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการประเมินผลการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ปัจจุบันของไทยใน 12 กรอบความตกลง 17 ประเทศคู่เจรจา ได้แก่ อาเซียน อาเซียน–จีน ไทย–อินเดีย อาเซียน–อินเดีย ไทย–ญี่ปุ่น อาเซียน–ญี่ปุ่น ไทย–ออสเตรเลีย ไทย–นิวซีแลนด์ อาเซียน–ออสเตรเลีย–นิวซีแลนด์ อาเซียน–เกาหลี ไทย–เปรู และไทย–ชิลี พบว่า ในปี 2560 ผู้นำเข้าใช้สิทธิใน 12 กรอบ FTA เพื่อนำเข้าสินค้า เป็นมูลค่า 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 6.76 โดยกลุ่มสินค้าที่มีการใช้สิทธิ FTA สูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ พลาสติกและของทำด้วยพลาสติก เป็นการใช้สิทธินำเข้าจากจีนมากที่สุด รองลงมาได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ตามลำดับ ทั้งนี้ การนำเข้าด้วยสิทธิประโยชน์ FTA มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 51.08 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ได้รับสิทธิ FTA
นางอรมน กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบการใช้สิทธิ FTA เพื่อการส่งออก พบว่ามีมูลค่าสูงถึง 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 15.2 โดยมีสัดส่วนร้อยละ 71.3 ของยอดการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ FTA ซึ่งสินค้า
สำคัญที่ส่งออกภายใต้สิทธิฯ เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ
อัญมณีและเครื่องประดับ อาหารปรุงแต่ง/แปรรูป และปิโตรเคมีภัณฑ์ เป็นต้น เป็นการใช้สิทธิ FTA ส่งออกไปอาเซียนสูงที่สุด ตามด้วย จีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย ตามลำดับ
นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี FTA มีประโยชน์ เนื่องจากช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการและสินค้าไทย ตลอดจนประโยชน์ต่อผู้บริโภค จึงขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิ FTA ในการนำเข้า – ส่งออก ให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ สามารถตรวจสอบและเปรียบเทียบอัตราภาษีนำเข้าภายใต้ FTA ของไทย และของประเทศคู่เจรจาได้จากเว็บไซต์กรม www.dtn.go.th หรือที่ http://tax.dtn.go.th ได้โดยตรง