วธ.-คกก.ปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนฯ ร่วมขับเคลื่อน Soft Power ภาพยนตร์ไทย ส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศผ่านสื่อบันเทิง

วธ.-คกก.ปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนฯ ร่วมขับเคลื่อน Soft Power ภาพยนตร์ไทย ส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศผ่านสื่อบันเทิง ไฟเขียวจัด Workshop และ Focus Group ร่วมกันระหว่างผู้ผลิตคอนเทนต์และ ผู้กำหนดนโยบาย ออกมาเป็นแผนปฏิบัติการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศฯ เสนอบอร์ดภาพยนตร์ฯ ต่อไป

นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีการประชุมคณะทำงานจัดทำกรอบแนวทางการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศผ่านสื่อบันเทิงในลักษณะอำนาจละมุน เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการหารือการวางกรอบแนวทางและแผนปฏิบัติการในการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศผ่านสื่อบันเทิงในลักษณะอำนาจละมุน (Soft Power) ตามนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนเรื่อง Soft Power และมอบหมายให้วธ. โดยคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศสู่สากลผ่านงานศิลปวัฒนธรรม การท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม สินค้าและบริการผ่านสื่อบันเทิงในลักษณะอำนาจละมุน (Soft Power)

สอดคล้องการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG และผลักดัน “Soft Power” ความเป็นไทยของวธ. ที่มุ่งส่งเสริมวัฒนธรรม 5F โดยเฉพาะอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และเศรษฐกิจฐานรากด้วยมิติทางวัฒนธรรม พัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมวัฒนธรรมให้กลายเป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรมสำคัญของไทยและสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก สร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศและส่งเสริมการค้าการลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของประเทศในระยะยาว

นางยุพา กล่าวว่า ในที่ประชุม ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ได้เสนอกรอบแนวทางการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศฯ แนะ 3 องค์ประกอบหลักที่ต้องมีในการดำเนินงาน หรือเรียกว่า “ไตรภาคี” ประกอบด้วย รากเหง้าทางประวัติศาสตร์ ทุนทางวัฒนธรรม และชีวิตในสังคมและเศรษฐกิจ พร้อมยุทธศาสตร์ผลักดัน Soft Power 3 ประการ คือ Knowledge ทำให้คนต่างชาติรู้จักประเทศไทย Attitude ปรับทัศนคติทำให้คนต่างชาติชื่นชอบประเทศไทย และ Practice ทำให้คนต่างชาติเปลี่ยนพฤติกรรมมานิยมไทย มุ่งเน้นสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างแข็งแกร่ง เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

โดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ ผลักดัน Soft Power อาทิ เสนอไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมนานาชาติ ผลักดันเนื้อหาของไทยผ่านภาพยนตร์ ซีรีย์ ละคร หรือรายการต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวและดึงดูดผู้คนด้วยงานเทศกาลประเพณี สินค้า อาหาร สื่อบันเทิง การละเล่น และกีฬาของไทย โดยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน องค์กรต่าง ๆ ผู้ประกอบการด้าน Social Media และผู้ที่มีหน้าที่ทางวัฒนธรรม ไปสู่การจัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศประเทศฯ ในรูปแบบการจัด Workshop ระหว่างเจ้าหน้าที่ภายในและภายนอกวธ. ขับเคลื่อน Soft Power ไปในทิศทางเดียวกัน ให้เกิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ

ปลัด วธ. กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบจัดประชุมปฏิบัติการ (Workshop) โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

1) กลุ่มช่องทางการเผยแพร่ (Channel) ให้สอดคล้องกับลักษณะการดำเนินงาน อาทิ กลุ่มผู้ผลิตคอนเทนต์ (Content) สตรีมมิง (Streaming) โทรทัศน์ และภาพยนตร์

2) กลุ่มผู้กำหนดนโยบาย (Strategy) ประกอบด้วย หน่วยงานในสังกัดวธ. และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยใช้ยุทธศาสตร์ (Strategy) และการขับเคลื่อนนโยบายเป็นหัวข้อหลัก สนับสนุนการจัดการสนทนากลุ่ม (Focus Group) สำหรับเจ้าหน้าที่ภายในวธ. กำหนดทิศทางและแนวทางนโยบายในภาพกว้าง

รวมทั้งเชิญคณะทำงานและบุคลากรที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ร่วมการสนทนากลุ่ม (Focus Group) ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อรวบรวมความคิดเห็นและความต้องการจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ หลังจากจัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศฯ แล้วเสร็จ จะจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ต่อคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติเพื่อพิจารณาเสนอรัฐบาล เพื่อเสนอของบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลต่อไป