กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 14 มิถุนายน 2565 ดังนี้

1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 16/2565 ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า จังหวัดสุทรปราการ ในระหว่างวันที่14 – 20 มิ.ย. 65 เวลาประมาณ 18.00 – 00.30 น. เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทยมีกำลังแรง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพิ่มสูงกว่าที่คาดหมาย คาดการณ์ว่าระดับน้ำมีความสูงประมาณ 1.70 – 2.00 ม.รทก. ส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ดังกล่าว

2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565

เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 65 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดเชียงใหม่ ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญและสนับสนุนการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำภายใต้กลไกของคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด พร้อมกำชับให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 อย่างเคร่งครัด

3. สภาพอากาศ

การคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 14 – 16 มิ.ย. 65 ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนเพิ่มขึ้นโดยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ส่วนในช่วงวันที่ 17 – 19 มิ.ย. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง ในขณะที่ร่องมรสุมเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมาและประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน และอ่าวตังเกี๋ย ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ส่วนมากบริเวณด้านรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้

4. แหล่งน้ำทั่วประเทศ

4.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ 45,391 ล้าน ลบ.ม. (55%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำ 39,575 ล้าน ลบ.ม. (55%) ขนาดกลาง 355 แห่ง ปริมาณน้ำ 3,369 ล้าน ลบ.ม. (61%) และขนาดเล็ก 139,894 แห่ง ปริมาณน้ำ 2,448 ล้าน ลบ.ม. (48%) โดยมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์เก็บกักสูงสุด ได้แก่ เขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา และเขื่อนน้ำพุง

4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำ 10,171 ล้าน ลบ.ม. (41%) โดยเขื่อนสิริกิติ์ อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย