120 ปี กรมชลประทาน งานเพื่อแผ่นดินไทย

Featured Video Play Icon

ประเทศไทยได้มีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ มาตั้งแต่สมัยโบราณ และเริ่มต้นนำวิทยาการสมัยใหม่เข้ามาใช้ นับจากปี พ.ศ. 2445 ซึ่งได้สถาปนากรมคลองขึ้น และผ่านการพัฒนาเปลี่ยนผ่านเป็นกรมทดน้ำ และเป็นกรมชลประทาน จวบจนถึงปัจจุบัน  120 ปี

กรมชลประทาน ดำเนินงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน้าที่จัดให้ได้มาซึ่งน้ำเพื่อกักเก็บรักษา ควบคุม ส่ง ระบาย หรือ แบ่งน้ำเพื่อการเกษตร การพลังงาน การสาธารณูปโภค หรือการอุตสาหกรรม และหมายรวมถึงการป้องกันความเสียหายอันเกิดจากน้ำ กับการคมนาคมทางน้ำซึ่งอยู่ในเขตชลประทาน ประกอบด้วยหน่วยงาน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

ดำเนินงานตามภารกิจหลักในการพัฒนาแหล่งน้ำ เพิ่มพื้นที่ชลประทานตามศักยภาพของลุ่มน้ำให้เกิดความสมดุล บริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ให้เพียงพอ ทั่วถึง และเป็นธรรม ดำเนินการป้องกันและบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำอย่างเหมาะสม เสริมสร้างการมีส่วนร่วม ในการพัฒนาแหล่งน้ำ และการบริหารจัดการน้ำ เพื่อจัดสรรน้ำให้กับทุกภาคส่วน

กรมชลประทาน ดำเนินการตามภารกิจหลักภายใต้ ยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 20 ปี เพื่อขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ชาติ ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ทั้ง 5 ประเด็น

ประเด็นที่ 1 การพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทานตามศักยภาพลักษณะลุ่มน้ำ (Basin-based Approach)

ประเด็นที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ตามวัตถุประสงค์การใช้น้ำ

ประเด็นที่ 3 การป้องกันความเสียหายและสนับสนุนการบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ

ประเด็นที่ 4 การเสริมอำนาจประชาชนในระดับพื้นที่ (Empowering) การสร้างเครือข่าย และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในงานบริหารจัดการน้ำชลประทาน (Networking Collaboration Participation)

ประเด็นที่ 5 การปรับเปลี่ยนสู่องค์กรอัจฉริยะ (Turnaround to Intelligent Organization)

โดยมีวิสัยทัศน์ : องค์กรอัจฉริยะ ที่มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ (Water Security) เพื่อเพิ่มคุณค่าการบริการ ภายในปี 2580

ก้าวเข้าสู่ปีที่120 กรมชลประทานมีแนวทางการขับเคลื่อนงานชลประทาน ภายใต้แนวคิด “RID TEAM : เราจะก้าวไปด้วยกัน” ดำเนินการขับเคลื่อนงานชลประทานสู่องค์กรอัจฉริยะ เร่งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ สร้างความมั่นคงด้านน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน ส่งเสริมการมีส่วนร่วม พร้อมพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีสมรรถนะสูง

ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายในการขับเคลื่อนงานชลประทานไว้ 3 ประเด็น ประเด็นละ 4 กลยุทธ์

ประเด็นที่ 1 องค์กรอัจฉริยะ โดยจะมีการจัดการและบูรณาการระบบฐานข้อมูล ปรับปรุงและพัฒนากระบวนงาน วิจัยและพัฒนา นวัตกรรมในการทำงาน สรรหาและพัฒนาบุคลากรให้มีสมรรถนะสูง

ประเด็นที่ 2 ความมั่นคงด้านน้ำ พัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เพิ่มประสิทธิภาพของโครงการชลประทาน พัฒนารูปแบบและแนวทางที่เหมาะสมในการรับมือภัยพิบัติด้านน้ำ

ประเด็นที่ 3 เพิ่มคุณค่าการบริการ เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของผู้รับบริการ และภาคีเครือข่ายของทุกภาคส่วน พัฒนาคุณภาพการให้บริการ งานหน่วยงาน จัดวางตำแหน่งบุคลากร และจัดทำเส้นทางความก้าวหน้าอย่างเหมาะสม และเสริมสร้างความผาสุกของบุคลากรเพื่อให้มีแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน

จากนโยบายสู่การปฏิบัติ กว้างใหญ่ในวิสัยทัศน์ ล้ำลึกกับงานวิจัย และไหลเชี่ยวคล่องตัวเมื่อลงมือทำ หล่อเลี้ยงจุดที่แห้งแล้ง เติมเต็มและพัฒนาคุณภาพชีวิตทั่วทุกพื้นที่ เร่งระบายทุกข์ภัย แทนที่ด้วยองค์ความรู้ใหม่อย่างท่วมท้น ปรับเปลี่ยนรูปแบบให้สอดรับกับทุกนโยบายรัฐและหน่วยงานอื่นๆ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด เราจะทุ่มเท มุ่งมั่น ร่วมมือกันเป็นหนึ่ง คอยหล่อเลี้ยงเป็นที่พึ่ง เพื่อนำคุณภาพชีวิตทีดี ส่งไปถึงคนไทยทุกคน

120  ปี กรมชลประทาน เราจะก้าวไปด้วยกัน ทุ่มเททำงาน สืบสานพันธกิจ ด้วยความสุจริตโปร่งใส เพื่อให้ภารกิจงานชลประทานบรรลุตามเป้าหมาย และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรและราษฎร

ไม่ใช่แค่บริหารจัดการน้ำ ไม่ใช่แค่วิจัยเรื่องน้ำ แต่ยังรับผิดชอบการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจ สร้างวิถีชีวิต และดูแลความเป็นอยู่ของผู้คนให้สมดุล หน้าที่เหล่านี้ต้องผสานความคิด ความรับผิดชอบ ความมุ่งมั่นกล้าหาญ และการร่วมมือกันของทุกฝ่าย จึงจะเกิดพลัง ที่จะทำให้คนไทย มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน