ดีอีเอส ห่วงคนไทยติดกับดักข่าวปลอมสุขภาพ

ดีอีเอส สรุปผลการมอนิเตอร์สถานการณ์ข่าวปลอมรอบสัปดาห์ล่าสุด พบข่าวปลอมสุขภาพกระแสแรง ใช้ประเด็นใกล้ตัวดึงความสนใจ ห่วงผู้บริโภคสื่อออนไลน์ถ้าหลงเชื่ออาจได้รับข้อมูลผิด กระทบต่อสุขภาพประชาชน

นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า ผลการมอนิเตอร์ประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 3-9 มิ.ย. 65 โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 11,648,636 ข้อความ โดยมีจำนวนที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) 233 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 123 เรื่อง

โดยในจำนวนนี้เป็นข่าวในกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพฯ 47 เรื่อง หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของจำนวนเรื่องที่เข้าเกณฑ์ต้องประสานการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลเชิงลึก (Insight) มีข้อสังเกตว่า ข่าวปลอมในหมวดข่าวสุขภาพ จุดกระแสความสนใจจากผู้บริโภคข่าวสารออนไลน์ได้นำหน้ากลุ่มข่าวหัวข้ออื่นๆ

ทั้งนี้ พบข่าว 10 อันดับแรกที่ได้รับความสนใจมากสุดในรอบสัปดาห์ ดังนี้

อันดับ 1 มันเทศญี่ปุ่นต้มน้ำขิง ช่วยต้านโควิด 19

อันดับ 2 สินเชื่อเพื่อประชาชน ของธนาคารออมสิน กู้ได้สูงสุด 2 แสนบาท

อันดับ 3 รักษาโรคไต โดยไม่ต้องฟอกไต ด้วยลิ้นจี่และเซี่ยงจี๊หมู

อันดับ 4 ยาพาราเซตามอลมีส่วนผสมของไวรัสแมคชูโป

อันดับ 5 ซื้อรถไฟฟ้าจากบริษัทผู้ผลิตในเอเชีย ไม่สามารถจดทะเบียนได้

อันดับ 6 ใช้ CF ยาสีฟันสามัญประจำบ้าน อาการปากเหม็น ฟันโยก เหงือกอักเสบลดลง

อันดับ 7 ธ.กรุงไทย ให้ยืม 30,000 บาท สมัครง่าย รับเงินผ่านตู้ ATM

อันดับ 8 ธ.กรุงไทยร่วมกับบริษัทเอกชน ปล่อยสินเชื่อเงินด่วน Street Money วงเงิน 5,000 – 300,000 บาท ผ่านไลน์ @387bawah

อันดับ 9 ดื่มน้ำมะขามเปียก ช่วยลดน้ำหนักได้

อันดับ 10 ใส่ผ้าอนามัยนานๆ ทำให้เป็นโรคมะเร็งปากมดลูก

“จาก 10 อันดับ พบข่าวเกี่ยวกับสุขภาพถึง 6 อันดับ โดยส่วนใหญ่เป็นประเด็นใกล้ตัว ทั้งปัญหาสุขภาพที่คนวิตกกังวล ยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อยู่ในชีวิตประจำวัน จึงคาดว่าอาจเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เข้าถึงความสนใจของผู้รับข่าวสาร” นางสาวนพวรรณกล่าว

ทั้งนี้ มีความเป็นห่วงประชาชน ในเรื่องความตระหนักและรู้เท่าทันสื่อออนไลน์/โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน มีการส่งต่อข้อมูลข่าวปลอมเหล่านี้ ก็จะทำให้ได้รับข้อมูลผิดๆ และส่งผลกระทบกับสุขภาพของประชาชนที่หลงเชื่อข่าวปลอมดังกล่าว

“ประชาชนต้องรู้เท่าทันข่าวปลอม และมีความรอบคอบในการบริโภคข้อมูลข่าวสารที่ถูกส่งต่อกันมาทางโซเชียล เพราะผู้ไม่หวังดีจะใช้ประโยชน์จากความสนใจของคนส่วนใหญ่ หรือประเด็นใกล้ตัว สร้างข่าวปลอมหรือข่าวบิดเบือน ดังนั้น เมื่อได้รับข่าวสารข้อมูลควรตรวจสอบให้รอบด้าน เลือกเชื่อ เลือกแชร์

และสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ได้ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดังนี้ ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87” นางสาวนพวรรณกล่าว