กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 11 มิถุนายน 2565 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565
กองบัญชาการกองทัพไทย จัดกำลังพลจิตอาสา พัฒนาคูคลองพื้นที่โดยรอบกองบัญชาการกองทัพเรือ ได้แก่ คลองวัดครุฑ คลองบ้านขมิ้น เขตบางกอกน้อย และคลองบ้านหม้อ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร โดยการทำความสะอาด กำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ และปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณริมคลองให้มีความสะอาดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ
2. สภาพอากาศ
การคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 10 – 13 มิ.ย. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมาและประเทศลาวตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนน้อย
ส่วนในช่วงวันที่ 14 – 16 มิ.ย. 65 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ 45,699 ล้าน ลบ.ม. (56%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำ 39,848 ล้าน ลบ.ม. (56%) ขนาดกลาง 355 แห่ง ปริมาณน้ำ 3,404 ล้าน ลบ.ม. (62%) และขนาดเล็ก 139,894 แห่ง ปริมาณน้ำ 2,448 ล้าน ลบ.ม. (48%) โดยมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์เก็บกักสูงสุด ได้แก่ เขื่อนกิ่วลมเขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนน้ำพุง
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำ 10,260 ล้าน ลบ.ม. (41%) โดยเขื่อนสิริกิติ์ อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์เก็บกักสูงสุด ได้แก่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
4. สถานการณ์น้ำท่า
สถานการณ์น้ำในแม่น้ำต่าง ๆ อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยถึงปกติ ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้มีแนวโน้มลดลงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางมีแนวโน้มทรงตัว
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
กรุงเทพมหานครและกรมทางหลวง ประชุมหารือร่วมกันในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนวิภาวดีรังสิต โดยในที่ประชุมมีการนำเสนอความคืบหน้าโครงการพัฒนาคูน้ำถนนวิภาวดีรังสิตของกรมทางหลวง ซึ่งในระหว่างก่อสร้างอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการระบายน้ำ กรมทางหลวงจึงได้ดำเนินการเปิดร่องน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเตรียมเครื่องมือเครื่องจักร และจัดเจ้าหน้าที่รายงานสถานการณ์ เพื่อดำเนินการแก้ไขได้ทันท่วงทีเมื่อเกิดภาวะน้ำท่วมขัง