บอร์ดกวช.มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินงานถวายพระราชสมัญญาสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

บอร์ดกวช.มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินงานถวายพระราชสมัญญาสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปี หอจดหมายเหตุแห่งชาติ และเตรียมเสนอให้ “นาค” เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติประเภทสัตว์ในตำนาน

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) ในฐานะรองประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้ประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) ครั้งที่ 5/2565 โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมฯ ที่ศูนย์ประชุมกระทรวงวัฒนธรรมและระบบประชุมทางไกลออนไลน์

โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินงานถวายพระราชสมัญญาสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปี หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร ตระหนักในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยต่อบทบาทการดำเนินงานของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และทรงให้ความสำคัญต่อการจัดการเอกสารจดหมายเหตุประเทศไทย เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์เอกสารจดหมายเหตุในฐานะมรดกทางประวัติศาสตร์ พระองค์เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพระราชกรณียกิจด้านจดหมายเหตุทั้งในและต่างประเทศ ทรงบันทึกข้อมูลในรูปแบบต่างๆด้วยพระองค์เองแล้วทรงนำพระราชนิพนธ์มาเผยแพร่เพื่อการศึกษาทั้งพระราชทานพระราชดำริประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานจดหมายเหตุ จึงน้อมเกล้าฯถวาย พระราชสมัญญาที่เหมาะสมแด่พระองค์ เผยแผ่พระเกียรติคุณให้แผ่ไพศาล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า คณะอนุกรรมการฯ มีรมว.วธ. นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ อดีตรมว.วธ.และศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เป็นที่ปรึกษา นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานอนุกรรมการฯ ส่วนอนุกรรมการฯประกอบด้วยอธิบดีกรมศิลปากร ศิลปินแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้บริหารสำนักหอสมุดแห่งชาติ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์และสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ มีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองข้อมูลเพื่อการดำเนินงานถวายพระราชสมัญญาและดำเนินงานถวายพระราชสมัญญาฯให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสมพระเกียรติ อีกทั้งที่ประชุมได้ให้วธ.

โดยกรมศิลปากรจัดทำโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ อาทิ พิธีถวายพระราชสมัญญาฯ จัดสัมมนาระดับชาติ ประกาศยกย่องจดหมายเหตุที่บันทึกโดยชาวต่างชาติ และจัดทำหนังสือที่ระลึกโดยคัดเลือกเอกสารจดหมายเหตุเรื่องสำคัญนำเสนอในรูปแบบเรื่องสั้น 70 เรื่อง

นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันที่ประชุมได้หารือเรื่องที่คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติมีมติเสนอให้“นาค”เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติประเภทสัตว์ในตำนาน โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบเสนอให้“นาค”เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติประเภทสัตว์ในตำนาน เนื่องจาก “นาค” มีความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตและดำรง อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนานและเกี่ยวข้องกับสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ซึ่งแม้ประเทศไทยจะรับวัฒนธรรมเรื่อง“นาค” มาจากประเทศอินเดีย แต่ไทยได้นำมาปรับ สร้างสรรค์และต่อยอดโดยสื่อออกมาผ่านขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมและพิธีกรรมต่างๆ งานวรรณกรรม ศิลปะและสถาปัตยกรรมโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนามีอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย

อีกทั้งปัจจุบันมีการนำเรื่อง “นาค”ไปต่อยอด“Soft Power”ความเป็นไทยมากมาย เช่น ละคร ภาพยนตร์โดยมีการเผยแพร่ไปสู่สังคมโลกและผู้แทนคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติได้ประสานสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากรให้เขียนภาพต้นแบบ“นาค”เพื่อให้คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติและคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติพิจารณาก่อนที่จะนำเสนอข้อมูลและภาพต้นแบบ “นาค” เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.)

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับรายงานผลจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ที่ส่งผู้แทนเข้าร่วมรับฟังการเสวนา“ประเด็นการแต่งตั้งศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย) ประจำปี 2564” โดยที่ประชุมได้ให้สวธ.นำข้อเสนอจากการเสวนาดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาในการปรับปรุงคณะอนุกรรมการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติและกระบวนการพิจารณาคัดเลือกศิลปินแห่งชาติต่อไป