รมว.สุชาติ เยือนนครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส นำทัพผู้แทนไตรภาคีร่วมประชุมใหญ่ ILC สมัยที่ 110

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน พล.ต.ต.นันทชาติ ศุภมงคล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล รวมทั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ได้เดินทางเยือนนครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 7 – 13 มิถุนายน 2565

เพื่อเข้าร่วมการประชุมประจำปีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Conference: ILC) สมัยที่ 110 ในรูปแบบผสมผสาน (Hybrid) ตามที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้งองค์การฯ ตั้งแต่ พ.ศ. 2462 (ค.ศ. 1919) โดยในการประชุมในครั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีวาระเข้าพบนายกาย ไรเดอร์ (Mr. Guy Ryder) ผู้อำนวยการใหญ่ไอแอลโอ เพื่อหารือข้อราชการด้านแรงงานพร้อมกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมใหญ่ในวันที่ 9 มิถุนายนนี้ด้วย

นายสุชาติ กล่าวว่า สาระสำคัญของการประชุม ILC สมัยที่ 110 ในครั้งนี้ว่า การประชุมมีระเบียบวาระประจำ ได้แก่ การรายงานของผู้อำนวยการใหญ่ไอแอลโอ และรายงานของประธานคณะประศาสน์การ แผนงาน งบประมาณ และรายงานการอนุวัติการอนุสัญญาและข้อแนะ ระเบียบวาระจร ได้แก่ การกำหนดมาตรฐานการฝึกงาน การอภิปรายหมุนเวียน เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์การจ้างงาน การอภิปรายทั่วไป งานที่มีคุณค่าและเศรษฐกิจสังคมสมานฉันท์ การบรรจุประเด็นสภาพการทพะงานที่ปลอดภัยและมีสุขอนามัยที่ดีในกรอบหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน และการแก้ไขประมวลข้อปฏิบัติของอนุสัญญา MLC

นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถ้อยแถลงของผู้แทนไตรภาคี กิจกรรม World of Work Summit การรับรองมติที่ประชุมคณะกรรมการ และข้อสรุป รวมถึงการลงคะแนนเสียง โดยกิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นในการประชุมครั้งนี้ จะนำไปสู่การกำหนดมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วย อนุสัญญา ข้อเสนอแนะ และพิธีสาร ปัจจุบันมีอนุสัญญาทั้งสิ้น 190 ฉบับ พิธีสาร 6 ฉบับ และข้อแนะ 206 ฉบับ

ทั้งนี้ นอกจากการประชุมองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILC) สมัยที่ 110 ในครั้งนี้แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและคณะ จะได้หารือข้อราชการด้านแรงงานกับเอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา เยี่ยมเยียนพบปะให้กำลังใจคนงานไทยที่ทำงานในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อความร่วมมือด้านแรงงาน เพื่อให้แรงงานได้รับสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชนสอดคล้องกับมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศอีกด้วย