วว. นำเสนอผลงานวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางดอกบัวแดง การสกัดน้ำมันดอกจันทน์กะพ้อ ให้แก่มูลนิธิณภาฯ

วว. นำเสนอผลงานวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางดอกบัวแดง การสกัดน้ำมันดอกจันทน์กะพ้อ ให้แก่มูลนิธิณภาฯ สนับสนุนการศึกษาวิจัยผลิตภัณฑ์จากสารสกัดพืชสมุนไพรไทย ภายใต้แบรนด์ “จัน”

 รศ. (พิเศษ) ดร.ดวงฤทธิ์  เบ็ญจาธิกุล  ชัยรุ่งเรือง   เลขานุการรัฐมนตรีว่าการและโฆษกกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  นายราเมศร์  เตชะบุญสม  ที่ปรึกษาฝ่ายสื่อสารภาพลักษณ์องค์กร มูลนิธิณภาฯ  ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา   เอี่ยมโชติชวลิต   ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  พร้อมคณะผู้บริหารและนักวิจัย ร่วมประชุมและนำเสนอรายงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางดอกบัวแดงและการสกัดน้ำมันดอกจันทน์กะพ้อ ซึ่ง ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. ดำเนินการวิจัยฯ ภายใต้ความร่วมมือสนับสนุนการศึกษาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสารสกัดพืชสมุนไพรไทย ในแบรนด์ผลิตภัณฑ์ “จัน” มูลนิธิณภาฯ

โดยผลการศึกษาและวิจัยของ วว. พบว่าสารสกัดดอกบัวแดงมีศักยภาพนำไปใช้เป็นสารออกฤทธิ์ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ได้แก่ ประสิทธิภาพการยับยั้งอนุมูลอิสระ  มีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนใต้ผิวหนังและยับยั้งการสร้างเม็ดสีผิว  โดย วว. ได้นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เซรั่มบำรุงผิวหน้า สบู่เหลวล้างหน้าและครีมกันแดด  ส่วนน้ำมันหอมระเหยดอกจันทน์กะพ้อมีความปลอดภัยจากการสูดดม โดยจะพัฒนาเป็นน้ำหอมคุณภาพสูง ซึ่งจะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับผู้พ้นโทษ ผู้ขาดโอกาส และชุมชน หนึ่งในภารกิจหลักของมูลนิธิณภาฯ ในวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ณ อาคารผลิตจัน  มูลนิธิณภาฯ

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา   เอี่ยมโชติชวลิต   ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า  การดำเนินงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางดอกบัวแดงและการสกัดน้ำมันดอกจันทน์กะพ้อของ วว. ภายใต้ความร่วมมือกับมูลนิธิณภาฯ เป็นการนำทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่าให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ พัฒนาวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากพืช พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์บํารุงผิว – บํารุงผิวหน้า การดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือของ วว. และมูลนิธิณภาฯ  ประกอบด้วย

1)  ศึกษาและวิจัยสารสกัดจากไม้ดอก พืชสมุนไพรไทย ได้แก่ ดอกบัวแดง ดอกจันทน์กะพ้อ ดอกเก็ดถวา และดอกกฤษณา เพื่อสกัดเป็นสารออกฤทธิ์สารหอมระเหย รวมถึงการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับการนำไปใช้ประโยชน์ด้านสารออกฤทธิ์ในเครื่องสำอาง

2) พัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีสรรพคุณของสมุนไพรไทยตามมาตรฐานสากลและให้เกิดใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ใน 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการบำรุงผิว กลุ่มที่ 2 ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการบำรุงผิวหน้า กลุ่มที่ 3 ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผม กลุ่มที่ 4 ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการทาความสะอาดในครัวเรือน และกลุ่มที่ 5 ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่นอกเหนือจาก 4 กลุ่มข้างต้น ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

3) ถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับหลักการ วิธีการสกัดพืชสมุนไพรโดยใช้เครื่องมืออย่างง่ายให้กับประชาชนในชุมชนที่เป็นเครือข่ายของมูลนิธิณภาฯ และชุมชนอื่น

4) การประกันคุณภาพ

อนึ่ง มูลนิธิณภาฯ ในพระราชดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดีกรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา หรือ “มูลนิธิณภาฯ” ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นตัวกลางในการแสวงหาโอกาส และช่วยเหลือกลุ่มผู้ขาดโอกาส ทั้งนี้ มูลนิธิ ณภาฯ เข้ามาเป็นสื่อกลางในการจัดหาช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการจัดหาตลาดแรงงานเพื่อที่จะให้กลุ่มผู้พ้นโทษสามารถต่อยอดการทำงาน   ในทักษะด้านที่ตนเองถนัดและให้พวกเขาสามารถเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวได้ จึงถือกำเนิดแบรนด์ผลิตภัณฑ์ “จัน” ภายใต้มูลนิธิณภาฯ ขึ้น

นอกจากนี้ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในพระราชดำริฯ ตำบลวังทอง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี เป็นอีกภารกิจหนึ่งภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานโครงการส่วนพระองค์ฯ ที่มุ่งมั่นในการดำเนินงานด้านการแก้ไขปัญหาความยากจนและหนี้สินด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงได้ร่วมมือกับ วว. ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพืช เช่น ดอกบัวแดง (เป็นพืชที่มีมากในจังหวัดอุดรธานี) และดอกจันทน์กะพ้อ (เป็นดอกไม้ที่มีมากในจังหวัดสุราษฎร์ธานี)  ในเรื่องการสกัดสารออกฤทธิ์และสารหอมระเหย เพื่อนำมาพัฒนาเป็นน้ำหอมคุณภาพสูง และผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องสำอาง ที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถแข่งชันกับสินค้าในตลาดต่างประเทศได้ เมื่อได้องค์ความรู้เหล่านี้ จะสามารถส่งเสริมการปลูกและรับซื้อผลผลิตจากชาวบ้านในท้องถิ่น ทำการแปรรูปเป็นสารสกัด และส่งต่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในโรงฝึกอาชีพชองมูลนิธิณภาฯ ต่อไป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและขอรับคำแนะนำปรึกษาจาก  วว.   ติดต่อได้ที่  โทร.  0 2577 9000  โทรสาร  0 2577 9009  E-mail : tistr@tistr.or.th  Line@TISTR  IG : tistr_ig