อุตุฯ สรุปภาพรวมการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ในช่วงฤดูฝน ปี 2565

วันที่ 7 มิถุนายน 2565 ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เข้าร่วมการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ในการติดตามและเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ในช่วงฤดูฝน ปี 2565 โดยมีคณะองคมนตรีเข้าร่วมรับฟังการประชุม โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย/ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม 1 อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ ได้กล่าวรายงานแนวทางการเตรียมความพร้อมของกรมอุตุนิยมวิทยาเพื่อรับสถานการณ์ในช่วงฤดูฝน ปี 2565 ประกอบด้วยการเฝ้าระวัง ติดตามและพยากรณ์อากาศ โดยแบ่งการพยากรณ์เป็น 3 ระยะ ดังนี้

-พยากรณ์อากาศระยะสั้น (ไม่เกิน 3 วัน) รวมถึงติดตาม และประกาศแจ้งเตือนกรณีมีสภาพอากาศรุนแรงแจ้งล่วงหน้าก่อนอย่างน้อย 3 วัน

– พยากรณ์อากาศระยะปานกลาง (ไม่เกิน 10 วัน) ใช้เป็นข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ รายสัปดาห์

– พยากรณ์ระยะนาน (6 เดือนล่วงหน้า) เน้นการพยากรณ์ฝนรายเดือน และเปรียบเทียบ สูงต่ำกว่าค่าปกติ และนำข้อมูลผลการพยากรณ์ไปบูรณาการร่วมกับ สสน. ในการจัดทำ One Map โดยมีการสร้างแผนที่เสี่ยงฝนตกหนัก จากผลการพยากรณ์อากาศด้วยแบบจำลองบรรยากาศ (Weather Research and Forecasting (WRF))

กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ติดตามสภาพอากาศ ทั้งในภาวะปกติและในสภาพอากาศที่มีความรุนแรง และออกประกาศแจ้งเตือนพายุฤดูร้อน ฝนตกหนักถึงหนักมากในช่วงฤดูฝน อากาศที่หนาวเย็นลงผิดปกติ และคลื่นลมแรง ในรูปแบบต่างๆ ทั้งข่าวประจำวัน ข่าวประกาศเตือนภัย อินโฟกราฟฟิก สื่อวิดีทัศน์ โดยเผยแพร่หลายช่องทาง ร่วมกับพันธมิตรที่เป็นสื่อมวลชนในหลากหลาย Platform และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

นอกจากนี้ได้กล่าวสรุปรายงานปริมาณฝนและการคาดการณ์ปริมาณฝนในช่วงฤดูฝน ปี 2565 ว่า ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ถึง เดือนกรกฎาคม ของปีนี้ จะเกิดฝนทิ้งช่วงในบางพื้นที่ ทำให้ต้องระวังพื้นที่ที่อยู่นอกเขตชลประทาน รวมทั้งพื้นที่ที่มักมีปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ส่วนเดือน สิงหาคม ถึงตุลาคม ฝนจะเริ่มกลับมาตกชุกเพิ่มขึ้น คาดว่าจะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยจำนวน 2 ลูก ในบริเวณภาคเหนือและภาคอีสาน ให้ระวังผลกระทบจากฝนที่ตกสะสม น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก คาดการณ์ฤดูฝนสิ้นสุดกลางเดือนตุลาคม

ทั้งนี้คาดการณ์ปริมาณฝนรวมช่วงฤดูฝนในปี 2565 จะสูงกว่าค่าปกติร้อยละ 3 แต่ฝนรวมจะน้อยกว่าปี 2564 ซึ่งมีปริมาณฝนสูงกว่าค่าปกติถึงร้อยละ 8 สำหรับปริมาณฝนสะสมตั้งแต่ 1 ม.ค. – 29 มี.ค. 2565 พบว่า ปริมาณฝนสะสมทั่วประเทศ มีค่า 557.3 มิลลิเมตร โดยค่าฝนสะสมปกติอยู่ที่ ๓๖๖.๐ มิลลิเมตร หรือคิดเป็นปริมาณฝนสะสมสูงกว่าค่าปกติ 52% หากพิจารณาเป็นค่าที่สูงต่ำเบี่ยงเบนไปจากค่าปกติ พบว่าพื้นที่ภาคอีสานตอนบนบริเวณจังหวัด เลย หนองบัวลำภู และอุดรธานี มีปริมาณฝนที่น้อยกว่าค่าปกติ เช่นเดียวกับพื้นที่ภาคใต้บริเวณจังหวัดกระบี่ โดยปริมาณฝนสะสมในแต่ละเดือนตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา พบว่าในเดือนมกราคม ๒๕๖๕ มีการกระจายและมีปริมาณฝนเล็กน้อย ส่วนเดือนมีนาคม และเมษายน มีการกระจายและปริมาณของฝนเพิ่มขึ้นในภาคอีสาน และภาคใต้ และในเดือนพฤษภาคม 2565 พบว่ามีการกระจายและปริมาณของฝนเพิ่มขึ้นในทุกภาคของประเทศไทย

กรมอุตุนิยมวิทยาจะเฝ้าระวังติดตาม รายงานสภาพอากาศที่อาจทำให้เกิดภัยพิบัติอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้อย่างทันท่วงที โดยจะบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป