มกอช. ร่วมมือ อ.ต.ก. จัดกิจกรรมรณรงค์ World Food Safety Day กระตุ้นจิตสำนึกให้ตระหนักและใส่ใจเรื่องความปลอดภัยอาหาร

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ (UN General Assembly) ได้ประกาศให้วันที่ 7 มิถุนายนของทุกปี เป็น “วันความปลอดภัยอาหารโลก” (World Food Safety Day) ซึ่งเป็นการผลักดันข้อเสนอโดยโครงการมาตรฐานอาหาร ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) หรือ โคเด็กซ์ (Codex)

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญในการปรับปรุงความปลอดภัยอาหาร และต้องการยกระดับการบริโภคอาหารและมาตรฐานการครองชีพของประชากรในโลกให้ดีขึ้น หลุดพ้นจากความยากจน ขจัดความหิวโหย และเพิ่มสมรรถนะในการผลิตและการจัดสรรผลิตผลการเกษตรของโลกให้สูงขึ้น จึงเห็นควรให้มีการจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นให้ประเทศสมาชิกเห็นความสำคัญของการรักษาความมั่นคงอาหาร ควบคู่ไปกับความปลอดภัยอาหาร (Food Safety) โดยในปี 2565 องค์การสหประชาชาติ ​ได้กำหนดธีม​ “Safer​ Food, Better​ Health” หรือ​ “อาหารยิ่งปลอดภัย สุขภาพยิ่งดี” ซึ่งเป็นการเน้นย้ำว่า อาหารที่ปลอดภัยมีความสำคัญต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ และอาหารปลอดภัยถือเป็นหนึ่งในหลักประกันที่สำคัญที่สุดสำหรับการมีสุขภาพที่ดี

นายพิศาลฯ กล่าวว่า มกอช. นับมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับความปลอดภัยอาหาร และได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์และกลยุทธ์หลักของหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับประเด็นความปลอดภัยอาหารและการมาตรฐาน จึงได้ร่วมกับ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) จัดกิจกรรมรณรงค์ “งานวันความปลอดภัยอาหารโลก” ครั้งที่ 4 ขึ้น ในวันอังคารที่ 7 มิถุนายน 2565 ณ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร กรุงเทพฯ เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกของทุกคนให้ตระหนักและใส่ใจในเรื่องความปลอดภัยของอาหารตลอดห่วงโซ่ โดยมีกิจกรรมภายในงาน อาทิ การมอบป้าย Q ให้กับร้านค้าในตลาด อ.ต.ก. ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานความปลอดภัย จำนวน 17 ร้าน การเยี่ยมชมตลาด พร้อมจัดขบวนรณรงค์สร้างการรับรู้ (Troop) ด้านความปลอดภัยอาหารให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการในตลาด อ.ต.ก. รวมทั้งการจัดนิทรรศการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจสินค้าเกษตรปลอดภัย (Q) และสินค้าเกษตรอินทรีย์ ตลอดจนการตอบข้อซักถามและแจกเอกสารเผยแพร่ด้านความปลอดภัยอาหาร

“มกอช. เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักด้านการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของไทย ให้มีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับสำหรับผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งในเรื่องมาตรฐาน จะเริ่มตั้งแต่การกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร ทั้งการผลิตด้านพืช ด้านสัตว์น้ำหรือปศุสัตว์ ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการผลิตที่ดี มาตรฐานการผลิตที่ดีในระดับฟาร์ม ต่อเนื่องมาจนถึงมาตรฐานการผลิตที่ดีในระดับแปรรูปของสินค้าเกษตรต่างๆ โดยปัจจุบัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการกำหนดมาตรฐานไปแล้ว จำนวน 378 เรื่อง ซึ่งมาตรฐานสินค้าเกษตรดังกล่าว กำหนดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการคุ้มครองผู้บริโภคจากอันตรายที่เกิดจากอาหาร รวมทั้งควบคุมและส่งเสริมสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และเพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ ตลอดจนเป็นกฎเกณฑ์ให้เกษตรกร หรือผู้ผลิตปฏิบัติตาม เพื่อให้สินค้าเกษตรมีคุณภาพและมีความปลอดภัย

ทั้งนี้ เมื่อกำหนดมาตรฐานแล้ว หลักสำคัญคือการนำไปส่งเสริมแนะนำให้เกษตรกรทั่วประเทศนำไปปฏิบัติตาม เมื่อเกษตรกรนำมาตรฐานไปปฏิบัติตามและผ่านการตรวจสอบรับรองตามเกณฑ์มาตรฐานก็จะได้เครื่องหมายรับรอง คือ เครื่องหมาย Q ที่รับรองคุณภาพ และความปลอดภัยกระบวนการผลิต และเครื่องหมายออแกนิคไทยแลนด์ ให้กับสินค้าเกษตรที่ผ่านการตรวจสอบตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะเป็นการยืนยันให้ได้รับทราบว่าสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าเกษตร ที่ผ่านการตรวจสอบรับรองและได้มาตรฐาน สามารถเชื่อมั่นได้ในความปลอดภัยของสินค้าเกษตรนั้น

นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมโยงสินค้าเกษตรมาตรฐานกับตลาด ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ โดยได้มีการจัดทำโครงการร่วมกับตลาดสดและห้างโมเดิร์นเทรดต่างๆ เพื่อจำหน่ายสินค้าที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งยังมีโครงการ Q Restaurant คือร้านอาหารที่ใช้วัตถุดิบที่ได้มาตรฐานซึ่งเป็นวัตถุดิบปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันมีร้านที่ได้รับการรับรองไปแล้วกว่า 3,000 แห่งทั่วประเทศ หรือหากจะซื้อสินค้าเกษตรออนไลน์ ก็สามารถเข้าไปดูในแพลตฟอร์มออนไลน์ DGT FARM ที่นำสินค้าเกษตรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานมาจำหน่าย โดย มกอช. ได้นำเทคโนโลยีพัฒนาระบบดังกล่าว มาช่วยขับเคลื่อนสินค้าเกษตรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานให้แก่ภาคการเกษตรไทย เพื่อให้เกษตรกรสามารถสร้างโอกาสและขยายช่องทางทางการตลาดได้” เลขาธิการ มกอช. กล่าว

ด้าน นายปณิธาน มีไชยโย ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร กล่าวว่า “อ.ต.ก. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับมูลค่าสินค้าเกษตร โดยการช่วยเหลือเกษตรกร/สถาบันเกษตรกร ในด้านการจัดหา จำหน่าย และการตลาด ซึ่ง อ.ต.ก. ให้ความสำคัญในการปรับปรุงอาหารให้มีความปลอดภัย มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรและการยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้คุณภาพมาตรฐาน

ทั้งนี้ มกอช. ได้เข้ามาตรวจสอบควบคุมมาตรฐาน และทำการมอบป้าย Q ให้กับร้านค้าในตลาด อ.ต.ก. ที่ผ่านการรับรองให้แก่ผู้ประกอบการค้าที่เข้าร่วมโครงการสถานที่จำหน่ายสินค้า Q ประเภทแผงในตลาดสดที่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งได้รับการรับรองตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขการตรวจและตลาดมีแผงร้านค้าของ มกอช. ซึ่งเป็นการยกระดับและเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าเกษตร สร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ ความปลอดภัยให้แก่ผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้บริโภค”