ผู้ว่าฯอยุธยา นำส่วนราชการ ร่วมประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ

ผู้ว่าฯอยุธยา นำส่วนราชการ ร่วมประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อติดตามและเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2565

วันที่7 มิ.ย.65 เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมมหาธาตุ ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย นายไพรัตน์ เพชรยวน รองผู้ว่าราชการจังหวัด พ.อ.(พ) ภัทราวุธ ทิพยโกมุท รอง ผอ.รมน.จ.พระนครศรีอยุธยา หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอและผู้แทนทั้ง 16 อำเภอ ผู้แทน ปภ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เป็นประธานเปิดการประชุมทางไกล (Video Conference System : VCS) และได้รับเกียรติจากคณะองคมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ร่วมประชุมติดตามและเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2565 จากห้องประชุม 1 อาคาร 3 ชั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนแรก เป็นการสรุปภาพรวมในการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2565 จำนวน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพยากรณ์ กลุ่มบริหารจัดการน้ำ และกลุ่มสนับสนุนการปฎิบัติการป้องกันและแก้ปัญหาอุทกภัย ในส่วนที่ 2 เป็นนำเสนอการดำเนินการเตรียมความพร้อมในระดับพื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดสุโขทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดสุราษฎร์ธานี และสุดท้าย จะกราบเรียนเชิญคณะองคมนตรี ได้ให้คำแนะนำในข้อปฏิบัติต่างๆ ในลำดับต่อไป

ในส่วนการดำเนินการของรัฐบาล ได้น้อมนำพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชทานไว้ในกรณีเกิดอุทกภัย ให้หน่วยงานต่างๆ ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดย บกปภ.ข. ได้ติดตามร่วมกับหน่วยงานต่างๆ และเตรียมการ รวมถึงมาตรการ และแนวทางต่างๆ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน โดยคณะรัฐมนตรี ได้กำชับมาตรการต่างๆ

พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ที่กำหนด นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการเน้นย้ำ ในการเตรียมความพร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ เครื่องจักร โดยให้พร้อมออกดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ได้ให้จัดทำแผนเผชิญเหตุต่างๆ ในการที่จะแก้ไขปัญหา ที่จะส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน ทั้งในเรื่องของการระบายน้ำ การกักเก็บน้ำ นอกจากนั้น ให้เร่งสำรวจภายหลังจากการเกิดอุทกภัย แก้ไขปัญหา ผลกระทบของพี่น้องประชาชนโดยเร็ว

พร้อมทั้ง ได้สั่งการในระดับพื้นที่ ถึงผู้ว่าราชการระดับจังหวัดทุกจังหวัด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังติดตาม จัดทำแผนเผชิญเหตุ เตรียมการระบายน้ำ การแจ้งเตือน หรือ เมื่อเกิดเหตุที่อาจจะเกิดอุทกภัยได้ ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และแก้ไขปัญหาในทุกระดับ

ในโอกาสนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้นำเสนอความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำและการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในระดับพื้นที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประกอบด้วย

1. การบริหารจัดการน้ำของกระทรวงเกษตรและกรมชลประทาน เป็นมาตรการหลังการเกิดมหาอุทกภัย ปี 2554

2. การเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีมาตรการบริหารจัดการเชิงพื้นที่แบ่งพื้นที่ 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เขตเมือง/เขตเศรษฐกิจ/โบราณสถาน พื้นที่เขตอุตสาหกรรม และ พื้นที่การเกษตร

3. มาตรการเฝ้าระวัง แจ้งเตือน และติดตามสถานการณ์

4. การเตรียมความพร้อมเครื่องจักร

5. มาตรการด้านการให้ความช่วยเหลือ

6. มาตรการด้านการฟื้นฟู เร่งสำรวจข้อมูลความเสียหายให้ถูกต้องและครบถ้วน เพื่อเข้าสู่กระบวนการเยียวยาและฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย และครอบคลุมทั้งการดำรงชีพ สาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม การประกอบอาชีพ (เกษตร ประมง ปศุสัตว์) ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด