รัฐมนตรีเอเชีย-แปซิฟิกผนึกกำลังขับเคลื่อนการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวปิดการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 (การศึกษา 2030) ครั้งที่ 2 (APREMC-II) เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 เวลา 11.30 น. ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ

โดยกล่าวว่า ตลอดระยะของการประชุมที่ได้ร่วมรับฟังและเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ในประเด็นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูการเรียนรู้และการจัดการกับวิกฤตการเรียนรู้ การผลักดันให้เกิดระบบการเปลี่ยนแปลงในเชิงลึก การสร้างความสามารถในการฟื้นตัวเมื่อเผชิญปัญหา รวมถึงการจัดสรรการลงทุนทางการศึกษาและตัวแปรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ล้วนแต่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี พ.ศ. 2573 โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 4   ซึ่งขณะนี้เหลือเวลาไม่ถึง 10 ปี ก่อนจะถึงกำหนดปี พ.ศ. 2573

อย่างไรก็ดี สภาวการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลกระทบต่อภาคการศึกษาทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาคในระดับที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ รวมถึงความก้าวหน้าของการดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 4 โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งกำลังประสบกับภาวะวิกฤตการเรียนรู้ อันเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 4 อยู่ก่อนแล้ว

กระทรวงศึกษาธิการมีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการจัดการประชุม APREMC II โดยมีความมุ่งมั่นที่จะรับมือกับวิกฤตการเรียนรู้ที่จะทำให้ผู้เรียนทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ ประเทศไทยพร้อมร่วมมือกับสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ และหุ้นส่วนในภาคการศึกษา รวมถึงประเทศสมาชิกอื่น ๆ ในการรับมือกับความ ท้าทายเพื่อทำให้การศึกษามีคุณภาพที่ดีขึ้นและมีความเสมอภาคสำหรับประชาชนทุกคน ซึ่งรวมถึงการจัดทำถ้อยแถลงกรุงเทพฯ ปี พ.ศ. 2565 โดยผลของการจัดทำถ้อยแถลงดังกล่าวจะนำไปเสนอต่อที่ประชุมระดับสูงเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 ต่อไป

นอกจากนี้ ประเทศไทยและหุ้นส่วนมั่นใจว่า ด้วยพลังของการร่วมมือประกอบกับความมุ่งมั่นของรัฐมนตรีศึกษาและหุ้นส่วนด้านการศึกษาทั้งหลายที่ได้ร่วมประชุมในครั้งนี้ จะเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้การศึกษามุ่งไปสู่การส่งเสริมผลลัพธ์ในเชิงบวกสำหรับทุกคน อันจะเป็นผลดีต่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ในท้ายสุด รัฐมนตรีฯ ได้กล่าวขอบคุณรัฐมนตรีศึกษาจากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกทุกท่าน ที่ได้ให้เกียรติร่วมการประชุมครั้งนี้เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ มุมมอง และองค์ความรู้อันทรงคุณค่า โดยเฉพาะต้องขอขอบคุณคุณทามาร่า ราสโตวัก เซียมชิวิลลี่ ประธานกรรมการบริหารยูเนสโก และคุณสเตฟาเนีย จิอันนินี่ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก ด้านการศึกษา ที่ร่วมแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกและมีความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนการศึกษาให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียนทุกคน

ตลอดจนหุ้นส่วนความร่วมมือ สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ องค์การยูนิเซฟ กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเทศญี่ปุ่น วิทยากร แขกผู้มีเกียรติ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งมีส่วนทำให้งานประชุมสำเร็จลุล่วง โดยมุ่งหวังว่าแนวคิดและความรู้ใหม่ ๆ จากการประชุมฯ จะได้นำไปใช้อย่างสรรค์สร้างและให้เกิดการพัฒนาการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับทุกคนสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 ภายในปี พ.ศ. 2573 สำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก