60 ปีวันภาษาไทยแห่งชาติ วธ.น้อมนำพระบรมราโชบายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สืบสาน รักษา และต่อยอด ภาษาไทย จัดกิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติปี 2565

60 ปีวันภาษาไทยแห่งชาติ วธ.น้อมนำพระบรมราโชบายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สืบสาน รักษา และต่อยอด ภาษาไทย จัดกิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติปี 2565 วันที่ 26 ก.ค. นี้ เปิดเวทีมอบรางวัลเชิดชูเกียรติปูชนียบุคคล-บุคคลดีเด่นด้านภาษาไทย เชิญชวนเด็กไทยประกวดคำขวัญวันภาษาไทยแห่งชาติ ประกวดเพลงแร็ป “รักนะจ๊ะ ภาษาไทย”

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริม สืบสาน และธำรงรักษาอัตลักษณ์ความเป็นไทยด้วยภาษาไทย ณ ศูนย์ประชุมกระทรวงวัฒนธรรม ชั้น 8 อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม และผ่านระบบประชุมทางไกลออนไลน์ (Zoom) โดยที่ประชุมหารือเตรียมการจัดกิจกรรมเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช 2565 เนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือกันสนับสนุน ส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป

อีกทั้งปีนี้ถือเป็นวาระพิเศษ เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินไปทรงอภิปรายเรื่อง “ปัญหาการใช้คำไทย” ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาถึงปัจจุบันครบ 60 ปี โดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ดำเนินการจัดกิจกรรมเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อน้อมนำพระบรมราโชบายและพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทรงงาน เพื่อสืบสาน รักษาและต่อยอดแนวพระราชดำริ ด้านภาษาไทยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รวมถึงเพื่อกระตุ้นให้เด็ก เยาวชน และประชาชนชาวไทย ตลอดจนสถาบันการศึกษา องค์กร หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนตระหนักในความสำคัญของภาษาไทยและใช้ให้ถูกต้อง ร่วมทั้งอนุรักษ์ภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาประจำชาติอย่างยั่งยืน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ที่ประชุมมอบหมาย วธ.บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถานศึกษาและเครือข่ายทางวัฒนธรรม จัดกิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช 2565 ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย การคัดเลือกปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ผู้ใช้ภาษาถิ่นดีเด่น ผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย และคัดเลือกเยาวชนผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ที่มีความสามารถด้านการพูด การอ่าน การเขียน การประกวดคำขวัญวันภาษาไทยแห่งชาติ การประกวดเพลงแร็ป “รักนะจ๊ะ ภาษาไทย” ประกวดเพลงฉ่อยและเพลงพื้นบ้าน การประกวดเพลง “เพชรในเพลง

กิจกรรมสวดมนต์หมู่สรรเสริญพระรัตนตรัยทำนองสรภัญญะ สวดโอ้เอ้วิหาราย สวดมหาชาติคำหลวง ประกวดบรรยายธรรมของเยาวชน กิจกรรมแข่งขันทักษะภาษาไทย อาทิ แต่งกลอน คัดลายมือ ประกวดหนังสือทำมือ การเสวนาด้านภาษาไทยโดยศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัลศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน การบรรยายวิชาการ หัวข้อ “ภาษาไทยในต่างแดน” ผ่านทางออนไลน์ วันที่ 29 กรกฎาคม 2565 ที่เพจเฟซบุ๊กศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร การจัดทำวีดิทัศน์ส่งเสริมการใช้ภาษาไทยของสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย การจัดทำวีดิทัศน์รณรงค์ส่งเสริมการใช้ภาษาไทย การเผยแพร่สื่อวีดิทัศน์ การส่งเสริมภาษาไทยผ่านช่องทางออนไลน์ รวมทั้งจัดพิมพ์หนังสือเก่าหายาก “นามพรรณพฤกษา สัตวาภิธาน” และ นิติสารสาธก ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)

นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมเห็นชอบแผนการจัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช 2565 โดยวธ.ร่วมมือกับทุกภาคส่วนจะจัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติขึ้นในวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยจะมีพิธีมอบโล่เกียรติยศและโล่รางวัลแก่หน่วยงานและผู้ได้รับรางวัลด้านภาษาไทย ผู้ชนะการประกวดด้านภาษาไทยต่างๆ และศิลปินผู้ได้รับรางวัลเพชรในเพลง รวมทั้งมีนิทรรศการวันภาษาไทยแห่งชาติ นิทรรศการแสดงผลงานของผู้ได้รับรางวัลด้านภาษาไทยและเพชรในเพลง การแสดงของศิลปินเพชรในเพลง การแสดงศิลปวัฒนธรรม

ทั้งนี้ การจัดงานครั้งนี้ได้กำชับให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างเคร่งครัด และจะมีการถ่ายทอดสด (Live) การจัดงานผ่านทางเพจเฟซบุ๊กกระทรวงวัฒนธรรม และสถานีภาษาไทยผ่านทางเพจเฟซบุ๊กกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ให้วธ.ร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ จัดกิจกรรมประกวดและส่งเสริม อนุรักษ์ภาษาไทยอย่างต่อเนื่องตลอดปี เช่น จัดกิจกรรมด้านภาษาไทยในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ การอบรมพัฒนาครูภาษาไทย เป็นต้น