กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 7 มิถุนายน 2565 ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะฝ่ายเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้มีการกำหนดแผนซักซ้อมเผชิญเหตุโดยได้มีการกำหนดพื้นที่ฝึกซ้อมเตรียมรับมือสถานการณ์อุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้น จำนวน 4 ครั้ง ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดพิษณุโลก และ จังหวัดชัยนาท ปัจจุบันได้มีการลงพื้นที่ฝึกซ้อมจำนวน 1 ครั้งที่ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ14 หน่วยงาน

2. สภาพอากาศ

การคาดการณ์สภาพอากาศ วันที่ 7-9 มิ.ย. 65 ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศลาวตอนบนและประเทศเวียดนามตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก ส่วนในช่วงวันที่ 10 – 12 มิ.ย. 65 หย่อมความกดอากาศปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบนประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง

3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ

3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ 46,042 ล้าน ลบ.ม. (56%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำ 40,157 ล้าน ลบ.ม. (56%) ขนาดกลาง 355 แห่ง ปริมาณน้ำ 3,436 ล้าน ลบ.ม. (63%)และขนาดเล็ก 139,894 แห่ง ปริมาณน้ำ 2,449 ล้าน ลบ.ม. (48%) สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์น้ำมาก ได้แก่ เขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนน้ำพุง

3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำ 10,407 ล้าน ลบ.ม. (42%) โดยเขื่อนสิริกิติ์ อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อยู่ในเกณฑ์น้ำมาก

4. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการแถลงผลงานการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2564/65 และการเตรียมรับมือฤดูฝนปี 2565 โดยมีผู้แทนทุกหน่วยงานด้านน้ำเข้าร่วม ได้กำชับมอบหมายให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัด พร้อมติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุ ได้อย่างทันท่วงที รวมถึงวางแผนเก็บกักน้ำสำรองทุกแหล่งทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินไว้รองรับฤดูแล้งหน้าด้วย