“วราวุธ” ร่วม Kick – off เปิดตัว “สุพรรณบุรี Carbon Neutrality Model” จับมือภาคธุรกิจเดินหน้าสร้างเมืองคาร์บอนต่ำ

วันที่ 6 มิถุนายน 2565 เวลา 14.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานในพิธีเปิดงาน Kick – Off โครงการ “สุพรรณบุรี Carbon Neutrality Model” ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ จังหวัดสุพรรณบุรี และกลุ่มมิตรผล ดำเนินการขับเคลื่อนจังหวัดสุพรรณบุรีไปสู่เมืองคาร์บอนต่ำ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2030

โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงฯ ดร.อุดม โปร่งฟ้า ที่ปรึกษา รมว.ทส. ดร.สุจิตรา ทรงมัจฉา ที่ปรึกษา รมว.ทส. นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมผู้บริหารระดับสูงใน ทส. เข้าร่วม และมีนายชูชีพ พงษ์ไชย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมผู้บริหาร กลุ่มมิตรผล และ กฟผ. ตลอดจนเครือข่ายภาคประชาชนเกษตรกรชาวไร่อ้อย ให้การต้อนรับ ณ อุทยานมิตรผลด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี

นายวราวุธ กล่าวว่า “ประเทศไทยมีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากว่า 30 ปี ในฐานะภาคีสมาชิกภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และภาคีความตกลงปารีส (Paris Agreement) และในการประชุม COP26 เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายที่จะยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065

ถึงแม้ว่า ประเทศไทยจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 300 – 350 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า แต่หากเราทุกคนร่วมมือกันก็จะช่วยให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกของประเทศลดลงได้ โครงการ “สุพรรณบุรี Carbon Neutrality Model” จึงเป็นต้นแบบของความร่วมมือกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ที่กำหนดเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ที่สามารถขยายผลให้เกิดความร่วมมือในทุกภาคส่วน เพื่อสร้างสมดุลในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ของประเทศ ไปสู่ความยั่งยืนต่อไปได้”

“โครงการสุพรรณบุรี Carbon Neutrality Model” มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำ ร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคม เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยและนานาประเทศในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนอกจาก การขับเคลื่อนให้อุทยานมิตรผลด่านช้าง เป็นโรงงานต้นแบบด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนแล้ว ยังได้ดำเนินกิจกรรมปลูกป่า ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าองค์พระ ป่าพุระกำ และป่าห้วยพลู ในอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อปลูกต้นไม้ให้ได้ 700,000 ต้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในการเป็นแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจกให้กับประเทศไทยอีกด้วย