กรมชลประทานเดินหน้าบริหารจัดการน้ำฤดูฝน พร้อมย้ำ เร่งแก้ปัญหาการเก็บผักตบชวาอย่างต่อเนื่อง

วันที่ 6 มิ.ย.65 ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ (กทม.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (6 มิ.ย.65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 43,147 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุอ่างฯรวมกัน ยังสามารถรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 32,937 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 10,407 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯรวมกัน สามารถรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 14,464 ล้าน ลบ.ม.

โดยในช่วงกลางเดือนมิถุนายนไปจนถึงกลางเดือนกรกฎาคม กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าปริมาณฝนจะลดลง อาจส่งผลต่อพื้นที่การเกษตรบางแห่ง จึงเน้นย้ำให้บริหารจัดการน้ำอย่างประณีต การอุปโภคบริโภคต้องไม่ขาดแคลน ส่งเสริมการใช้น้ำฝนเป็นหลัก และบริหารจัดการน้ำท่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆให้ได้มากที่สุด สำหรับสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้า พร้อมบริหารจัดการน้ำควบคู่ไปกับแผนการป้องกันและบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ หมั่นตรวจสอบอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ และเร่งดำเนินการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำและวัชพืช เพื่อให้ไหลลงสู่แม่น้ำสายหลักให้น้อยที่สุด เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำให้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำและติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เนื่องจากในหลายพื้นที่ ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง โดยให้พิจารณาปรับการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในแต่ละพื้นที่ และปฏิบัติตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ทั้ง 13 มาตรการ ตามที่รัฐบาลโดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด