อุตุฯ รายงานสภาพอากาศและการคาดการณ์ปริมาณฝนในช่วงฤดูฝน ปี ๒๕๖๕ โดยมีฝนทิ้งช่วงหลายพื้นที่ช่วงปลายเดือนมิถุนายน ถึง กรกฎาคม ๒๕๖๕

อุตุฯ รายงานสภาพอากาศและการคาดการณ์ปริมาณฝนในช่วงฤดูฝน ปี ๒๕๖๕ โดยมีฝนทิ้งช่วงหลายพื้นที่ช่วงปลายเดือนมิถุนายน ถึง กรกฎาคม ๒๕๖๕ พื้นที่นอกเขตชลประทานต้องระวังปัญหาภัยแล้งซ้ำซากคาดพายุหมุนเขตร้อนเข้าสู่ไทย ๒ ลูก ฤดูฝนสิ้นสุดกลางเดือนตุลาคม

วันจันทร์ที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๖๕ ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เข้าร่วมการประชุมเพื่อแถลงผลงานการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี ๒๕๖๔/๖๕ และการเตรียมรับมือฤดูฝน ปี ๒๕๖๕ โดยมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมพร้อมกล่าวมอบนโยบาย แก่ผู้แทนจากทุกหน่วยงานด้านน้ำ ณ ห้องแคทลียา โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ

ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวสรุปรายงานสภาพอากาศและการคาดการณ์ปริมาณฝนในช่วงฤดูฝน ปี ๒๕๖๕ ในที่ประชุมว่า ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ถึง เดือนกรกฎาคม ของปีนี้ จะเกิดฝนทิ้งช่วงในบางพื้นที่ ทำให้ต้องระวังพื้นที่ที่อยู่นอกเขตชลประทาน รวมทั้งพื้นที่ที่มักมีปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ส่วนเดือน สิงหาคม ถึงตุลาคม ฝนจะเริ่มกลับมาตกชุกเพิ่มขึ้น คาดว่าจะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยจำนวน ๒ ลูก ในบริเวณภาคเหนือและภาคอีสาน ให้ระวังผลกระทบจากฝนที่ตกสะสม น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก คาดการณ์ฤดูฝนสิ้นสุดกลางเดือนตุลาคม

ทั้งนี้คาดการณ์ปริมาณฝนรวมช่วงฤดูฝนในปี ๒๕๖๕ จะสูงกว่าค่าปกติร้อยละ ๓ แต่ฝนรวมจะน้อยกว่าปี ๒๕๖๔ ซึ่งมีปริมาณฝนสูงกว่าค่าปกติถึงร้อยละ ๘ สำหรับปริมาณฝนสะสมตั้งแต่ ๑ ม.ค. – ๒๙ มี.ค. ๒๕๖๕ พบว่า ปริมาณฝนสะสมทั่วประเทศ มีค่า ๕๕๗.๓ มิลลิเมตร โดยค่าฝนสะสมปกติอยู่ที่ ๓๖๖.๐ มิลลิเมตร หรือคิดเป็นปริมาณฝนสะสมสูงกว่าค่าปกติ ๕๒% ปริมาณฝนรวมกระจายในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ

หากพิจารณาเป็นค่าที่สูงต่ำเบี่ยงเบนไปจากค่าปกติ พบว่าพื้นที่ภาคอีสานตอนบนบริเวณจังหวัด เลย หนองบัวลำภู และอุดรธานี มีปริมาณฝนที่น้อยกว่าค่าปกติ เช่นเดียวกับพื้นที่ภาคใต้บริเวณจังหวัดกระบี่ โดยปริมาณฝนสะสมในแต่ละเดือนตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา พบว่าในเดือนมกราคม ๒๕๖๕ มีการกระจายและมีปริมาณฝนเล็กน้อย ส่วนเดือนมีนาคม และเมษายน มีการกระจายและปริมาณของฝนเพิ่มขึ้นในภาคอีสาน และภาคใต้ และในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๕ พบว่ามีการกระจายและปริมาณของฝนเพิ่มขึ้นในทุกภาคของประเทศไทย

นอกจากนี้ยังได้กล่าวรายงานถึงช่วงเดือนเมษายน และพฤษภาคมที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศแจ้งเตือนพายุฤดูร้อน และฝนตกหนักในช่วงฤดูฝน เป็นระยะ เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมรับกับผลกระทบจากสถานการณ์ต่างๆ ที่เป็นผลมาจากพายุฤดูร้อนและฝนตกหนัก เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนฤดู ที่อากาศมีความชื้นสูงและร้อน ในขณะที่ความกดอากาศสูงก็ยังคงแผ่ลงมาเป็นครั้งคราว นำอากาศที่แห้งและเย็นกว่ามาผสมผสาน ทำให้เกิดมวลอากาศ ที่ขาดเสถียรภาพ มีการแลกเปลี่ยนมวลกันในแนวดิ่ง เกิดการยกตัวของมวลอากาศอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดเมฆฝนฟ้าคะนองขนาดใหญ่กว่าปกติ และมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้น

กรมอุตุนิยมวิทยาจะเฝ้าระวังติดตาม รายงานสภาพอากาศที่อาจทำให้เกิดภัยพิบัติอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้อย่างทันท่วงที โดยจะบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป