อว. ผนึกกำลัง 9 เครือข่ายพัฒนาสหกิจศึกษา จัดงาน CWIE DAY ครั้งที่ 12 “ขับเคลื่อนอุดมศึกษา สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ม.บูรพา เป็นแม่งาน

อว. ผนึกกำลัง 9 เครือข่ายพัฒนาสหกิจศึกษา จัดงาน CWIE DAY ครั้งที่ 12 “ขับเคลื่อนอุดมศึกษา สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ม.บูรพา เป็นแม่งาน จัดเต็มทั้งวิชาการและการแสดง พร้อมพาเครือข่ายเยี่ยมชมพื้น EEC ต้นแบบ

จันทร์ที่ 6 มิถุนายน 2565 : ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “วันสหกิจศึกษาบูรณาการกับการทำงาน (CWIE DAY)” ครั้งที่ 12 ประจำปี พ.ศ.2565 พรัอมด้วย ศ.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. และคณะผู้บริหาร คณะกรรมการบริหารโครงการ จาก อว.

โดยมีกิจกรรมสำคัญๆ อาทิ การปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “Partnership for Sustainable Development Goals” โดย ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน การเสวนา ในหัวข้อ “CWIE และ EEC Model Type A เพื่อรองรับความต้องการ ของตลาดแรงงาน” โดยผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา สถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐ และพิธีมอบรางวัล CWIE ดีเด่นระดับชาติ ประจำปี พ.ศ. 2565 การแสดงผลงาน CWIE ที่มีผลงานโดดเด่นในระดับประเทศ การแสดงนิทรรศการผลการดำเนินงาน CWIE ของ 9 เครือข่ายพัฒนาสหกิจศึกษา และสถานประกอบการที่ร่วมดำเนินการ CWIE และการชมศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้ EEC NET โดยได้รับการต้อนรับจาก รศ.ดร.วัชรินทร์ กาสลัก ประธานเครือข่ายอุดมศึกษาภาคตะวันออก และอธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร งานดังกล่าวจัดขึ้น ณ BBS Auditorium ชั้น ๕ อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะการจัดการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี

ดร.ดนุช ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ กล่าวว่า “การจัดงานวันสหกิจศึกษาบูรณาการกับการทำงาน หรือ CWIE DAY ครั้งที่ 12 ประจำปี พ.ศ. 2565 ภายใต้แนวคิด “CWIE ร่วมขับเคลื่อนอุดมศึกษา สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” เป็นกิจกรรมสำคัญที่สะท้อนภาพความเข้มแข็งของความร่วมมือระหว่าง สถาบันอุดมศึกษา สถานประกอบการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นเวทีกลางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถ่ายทอดประสบการณ์เกี่ยวกับการดำเนินงาน CWIE ซึ่งจะเป็นแนวทางในการพัฒนา CWIE ให้ก้าวหน้าและยั่งยืน

การจัดการเรียนการสอนแบบสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน หรือ CWIE ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของ Curriculum Redesign และ New Learning Platform เป็นการสร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้กับผู้เรียนเปิดโอกาสให้ผู้ใช้บัณฑิตร่วมออกแบบหลักสูตรและกำหนดสมรรถนะ (Co-design) สร้างความสมดุลและเชื่อมโยงทฤษฎีกับการปฏิบัติ (Theory-Practice) ความรู้และประสบการณ์ (Knowledge -Experience) และสถาบันอุดมศึกษากับสถานประกอบการ (University-Workplace Engagement) ที่สำคัญ คือ การเชื่อมกับการได้งานทำ (Job Creation) เมื่อจบการศึกษาก็ทำงานในตำแหน่งนั้น ๆ ได้ทันทีหรือใช้ประสบการณ์ที่ได้ไปสร้างธุรกิจของตนเอง ซึ่งนักศึกษาที่ไม่เข้าเรียน CWIE จะไม่มีโอกาสดังกล่าว”

“อว. ส่งเสริมให้มีการดำเนินงาน CWIE มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ทำให้เกิดการเชื่อมโยงนักศึกษา สถาบันอุดมศึกษาและสถานประกอบการเข้าด้วยกัน รวมทั้ง มีการขยายภาคีความร่วมมือไปยังองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน สมาคมวิชาการและสมาคมวิชาชีพ โดยมีเครือข่ายพัฒนาสหกิจศึกษา 9 เครือข่าย ที่มีสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศเป็นสมาชิก เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ทำให้เกิดความต่อเนื่องในการผลิตบัณฑิตที่มีประสบการณ์จากการทำงาน สามารถมองเห็นแนวทางการประกอบอาชีพในอนาคต และมีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของสถานประกอบการและตลาดงาน” ดร.ดนุช กล่าว

ด้าน ศ.ศุภชัย รองปลัดกระทรวง กล่าวเพิ่มเติมว่า อว. ส่งเสริมและสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาร่วมกับสถานประกอบการจัดการเรียนการสอนแบบเน้นสมรรถนะของนักศึกษาทั้งในรูปแบบสหกิจศึกษา และปรับเปลี่ยนเป็น CWIE ในปี 2562 โดยมีเครือข่ายพัฒนาสหกิจศึกษา 9 เครือข่ายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เป็นกลไกขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง ได้เห็นพัฒนาการและความก้าวหน้าของการยกระดับคุณภาพบัณฑิตไทย ปัจจุบันมีสถาบันอุดมศึกษาจัด CWIE เกือบ 100 แห่ง สามารถผลิตบัณฑิตสู่โลกของการทำงานจริงได้มากกว่า 79,000 คน มีสถานประกอบการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรจัด CWIE เกือบ 20,000 แห่ง โดย อว. กำหนดเป้าหมายการเพิ่มนักศึกษา CWIE เป็น 2 เท่าหรือประมาณอีก 100,000 คน ภายในปี พ.ศ. 2567