การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 (การศึกษา 2030) ครั้งที่ 2

ระหว่างวันที่ 5 – 7 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ

การประชุม APREMC-II เป็นการประชุมที่สืบเนื่องจากการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการศึกษาในเอเชียและแปซิฟิก (Asia-Pacific Regional Education Conference – APREC) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2557 ณ กรุงเทพฯ โดยกระทรวงศึกษาธิการร่วมกับสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ เป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมมีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาความก้าวหน้า ปัญหา และอุปสรรคในการดำเนินการด้านการศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All) ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของการศึกษาในอนาคต รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะของภูมิภาคเกี่ยวกับการศึกษาภายหลังปี 2558 และวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน (Post-2015 Global Education and Development Agendas) มีรัฐมนตรีด้านการศึกษาและเจ้าหน้าที่ระดับสูงเข้าร่วมการประชุมจำนวน 37 ประเทศ รวมถึงผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ

การประชุมครั้งนั้น ที่ประชุมได้มีการรับรองแถลงการณ์ด้านการศึกษาในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกภายหลังปี 2558 หรือแถลงการณ์กรุงเทพฯ (Bangkok Statement) ซึ่งมีเป้าหมายที่สำคัญคือ “การสร้างความมั่นใจในเรื่องของการศึกษาสำหรับประชาชนทุกคน เป็นการศึกษาที่มีคุณภาพ และการศึกษาตลอดชีวิต ภายในปี 2573” รวมถึงการดำเนินการด้านการศึกษาระดับภูมิภาคภายใต้หัวข้อที่สำคัญ ได้แก่การเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับประชาชนทุกคน ความเสมอภาคและเท่าเทียม ทักษะและสมรรถนะเพื่อชีวิตและการทำงาน คุณภาพการศึกษาและครู การส่งเสริมเทคโนโลยีสารสนเทศและการศึกษาสำหรับการศึกษา และการบริหารจัดการและงบประมาณ

การประชุม APREMC-II ในปี 2565 ครั้งนี้ ได้ตระหนักถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งก่อให้เกิดความผันผวนที่คาดการณ์ไม่ได้และมีผลกระทบต่อการศึกษาทั้งในระดับโลกและภูมิภาค รวมถึงผลสัมฤทธิ์
ทางการศึกษาและสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดีของผู้เรียน ดังจะเห็นได้จากผลการดำเนินการและความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 4 ด้านการศึกษา (SDG4) และการแพร่ระบาดยังจะมีผลกระทบระยะยาวต่อเด็ก ๆ ในอนาคต โดยเฉพาะผู้เรียนที่เป็นกลุ่มด้อยโอกาส

ทั้งนี้ ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกประสบกับวิกฤตด้านการเรียนอยู่แล้วก่อนการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ดังนั้น จึงต้องเร่งพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการศึกษาเพื่อพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในอนาคต เพื่อให้การศึกษามีความเท่าเทียม ครอบคลุม เชื่อมโยง ตอบสนอง และยืดหยุ่น รวมถึงการคำนึงถึงงบประมาณด้านการศึกษา

การประชุม APREMC-II กระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพร่วมกับสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ โดยการสนับสนุนจาก UNICEF East Asia and Pacific Regional Office (UNICEF EAPRO) UNICEF Regional Office for South Asia (UNISEF ROSA) กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (Ministry of Education, Cultures, Sports, Science and Technology – MEXT) ประเทศญี่ปุ่น และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (EEF) โดยจะเชิญผู้แทนระดับรัฐมนตรีหรือเทียบเท่าจากประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จำนวน 46 ประเทศ รวมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานภายใต้สหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาสังคม เยาวชน ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

 หัวข้อหลักการประชุม

Education Recovery and Transformation towards more Responsive, Relevant and Resilient Education Systems: Accelerating progress towards SDG 4- Education 2030: การฟื้นฟูและการเปลี่ยนด้านการศึกษาเพื่อมุ่งสู่ระบบการศึกษาที่ตอบสนอง เชื่อมโยง และยืดหยุ่นมากขึ้น :  การเร่งดำเนินความก้าวหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 การศึกษา 2030

ในวันนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีจากประเทศต่าง ๆ 20 ประเทศ รวมทั้ง นางสเตฟาเนีย เกียนนินี่(Ms. Stefania Giannini) ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโกด้านการศึกษา นางทามารา ราสโตวัค ไซมาชวิลี่(Ms. Tamara Rastovac Siamashvili) ประธานคณะกรรมการบริหารยูเนสโก Ms. Debora Comini(นางเด็บโบรา โคมินี) ผู้อำนวยการสำนักงานยูนิเซฟประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (UNICEF EAPRO) Mr. Shigeru Aoyagi (นายชิเกรุ อาโอยากิ) ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ (UNESCO Bangkok) ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ นักศึกษา และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จำนวนกว่า 350 คน

การจัดงานในปีนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็พระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดการประชุม ณ ห้องแกรนด์ บอลลูม โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนางกนกวรรณ วิลาวัณย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ และมีผู้บริหารองค์การระหว่างประเทศ กล่าวถ้อยแถลง ได้แก่ Mr. Shigeru Aoyagi (นายชิเกรุ อาโอยากิ) ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ (UNESCO Bangkok) และ Ms. Debora Comini (นางเด็บโบรา โคมินี) ผู้อำนวยการสำนักงานยูนิเซฟประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (UNICEF EAPRO)

ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสเปิดการประชุม หลังจากนั้น ทรงฟังการบรรยายจาก

1.นายชินสุเกะ สุเอะมัตสึ (H.E. Mr Shinsuke Suematsu) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ประเทศญี่ปุ่น (ผ่านวิดีโอ)

2.นางสาวจายัธมา วิกครามานายาเคอ (Ms. Jayathma Wickramanayake) ผู้แทนเลขาธิการแห่งสหประชาชาติด้านเยาวชน (UN Secretary-General Envoy on Youth) (ผ่านวิดีโอ)

3.  นางสเตฟาเนีย เกียนนินี่ (Ms. Stefania Giannini) ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโกด้านการศึกษา

4.นางทามารา ราสโตวัค ไซมาชวิลี่ (Ms. Tamara Rastovac Siamashvili) ประธานคณะกรรมการบริหารยูเนสโก

จากนั้น ทรงเปิดนิทรรศการด้านการศึกษาของหน่วยงานต่าง ๆ บริเวณโถงหน้าห้อง โดยบูธนิทรรศการ 11 บูธ ประกอบด้วย

1.นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า ในฐานะทูตสันถวไมตรี ด้วยพระราชกรณียกิจของพระองค์ที่ทรงสงเคราะห์แก่เด็กและเยาวชนกลุ่มน้อยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งทรงให้ความสำคัญในเรื่องของการศึกษาและการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อมวลมนุษยชาติ

2.องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)

3.กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF)

4.องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO)

5.ศูนย์วัฒนธรรมแห่งเอเชียและแปซิฟิกเพื่อยูเนสโก (ACCU)

6.มูลนิธิบ้านเด็กเพซาล็อตซี่ (Pestalozzi Children’s Foundation)

7.ศูนย์ประสานงานการจัดการศึกษาเด็กต่างด้าว (Migrant Educational Coordination Center)

8.มูลนิธิช่วยเหลือไร้พรมแดน (Help With Frontiers Foundation Thailand)

9.มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (Yala Rajabhat University)

10.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ. หรือ EEF)

11.กระทรวงศึกษาธิการ

การประชุมในครั้งนี้ ประกอบด้วย การประชุมเชิงวิชาการ (Technical Segment) และการประชุมระดับสูง (High-Level Segment) ซึ่งเป็นการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Roundtable) เพื่อเป็นเวที
ในการแลกเปลี่ยนความเห็นเชิงนโยบาย โดยเฉพาะประเด็นปัญหา แนวปฏิบัติและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องในการฟื้นฟู และเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษา และวิกฤตการเรียนรู้ภายหลังโควิด-19 รวมทั้งการจัดประชุมและกิจกรรมคู่ขนาน โดยมีหัวข้อย่อย ดังนี้

การฟื้นฟูการเรียนรู้และการจัดการวิกฤตการเรียนรู้ ความเสมอภาค ความครอบคลุมและความเท่าเทียมทางเพศ การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล อุดมศึกษาและการศึกษาผู้ใหญ่ การเงินและธรรมาภิบาล การศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลง (การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองโลก สุขภาพและสุขภาวะที่ดี) การดูแลเด็กปฐมวัย การเรียนรู้และการพัฒนาทักษะของวัยรุ่นและเยาวชน ครู และข้อมูลและการติดตามผล ทั้งนี้ ภายหลังจากการประชุมทุกประเทศจะร่วมกันเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางด้านความร่วมมือระหว่างกันในการบรรลุเป้าหมาย SDG4 จะมีการรับรองถ้อยแถลงกรุงเทพฯ ปี พ.ศ. 2565 (Bangkok Statement 2022) ที่ให้ความสำคัญในด้านการเปิดเรียนอย่างปลอดภัย การฟื้นฟูการเรียนรู้และความต่อเนื่องในการเรียนรู้ และการพลิกโฉมการศึกษาและระบบการศึกษา