กรมอนามัย เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง แนะวิธีสร้างสุขภาพดี แข็งแรง ไม่พึ่งยา

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) รู้เท่าทันสถานการณ์ ข้อมูลข่าวสาร เตือนอย่าหลงเชื่อโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์แอบอ้างการเสริมความงาม อาหารเสริม และยาลดความอ้วน แนะคุมน้ำหนักด้วยวิธีธรรมชาติ กินอาหารครบ 5 หมู่ ลดหวาน มัน เค็ม เน้นผักผลไม้สด รสไม่หวานจัด ควบคู่กับการออกกำลังกายสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที

แพทย์หญิงอัมพร  เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) ให้กับประชาชนเป็นตัวช่วยให้ประชาชนรู้เท่าทันสถานการณ์ ข้อมูลข่าวสาร และสุขภาพของตนเอง ด้วยการกลั่นกรอง ประเมิน และตัดสินใจ ที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เลือกใช้บริการและผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างเหมาะสม    เพราะที่ผ่านมามักพบสารอันตรายจากผลิตภัณฑ์แอบอ้างการเสริมความงาม อาหารเสริม และยาลดความอ้วนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจนอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ ประชาชนจึงต้องมีความรู้ เข้าถึงข้อมูลสุขภาพ และบริการสุขภาพจากหลายช่องทางจนสามารถจัดการสุขภาพด้วยตนเองได้อย่างเหมาะสม โดยไม่หลงเชื่อการโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงตามช่องทางการเผยแพร่ต่างๆ

“การลดน้ำหนักเพื่อแก้ปัญหาโรคอ้วนที่ดีที่สุดควรเน้นวิธีการทางธรรมชาติ คือการควบคุมปริมาณและชนิดของอาหารที่กิน โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินควบคู่กับการออกกำลังกายมากกว่าการกินอาหารเสริมหรือยาลดความอ้วน โดยควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในสัดส่วนที่มีความเหมาะสม ไม่เค็มจัด ไม่หวานจัด หรือมันมากจนเกินไป กินข้าวกล้องแทนข้าวขาว เลือกกินเนื้อสัตว์ ไม่ติดมัน เน้นเนื้อปลา เพิ่มผัก เลือกกินผลไม้หวานน้อย และควบคุมการกินอาหารรสหวาน เลือกดื่มนมสูตรพร่องมันเนยหรือขาดมันเนยรสจืด งดการกินจุกกินจิก เลี่ยงอาหารทอด งดหรือลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ น้ำอัดลม เครื่องดื่มรสหวาน ซึ่งกระตุ้นความอยากอาหาร กินอาหารให้ห่างจากการนอนอย่างน้อย         4 ชั่วโมง ไม่ควรสั่งอาหารคราวละมากๆ ควรกินช้าๆ เคี้ยวช้าๆให้ละเอียด 1 คำควรเคี้ยว 30 ครั้ง การรีบร้อนจะทำให้กินมากเกิน เพราะอัตรากลไกส่งสัญญาณความอิ่มระหว่างกระเพาะอาหารและสมองใช้เวลาประมาณ 20 นาที รวมถึงการกินอาหารให้ครบ 3 มื้อ อาหารเช้าเป็นมื้อสำคัญ หากไม่กินอาหารเช้าและคิดว่าจะช่วยลดความอ้วนได้ถือเป็นความคิดที่ผิด เพราะการไม่กินอาหารเช้าจะกระตุ้นให้ร่างกายเปลี่ยนพลังงานที่สะสมแปลงเป็นไขมันในร่างกายได้ ส่วนอาหารมื้อเย็น   ควรกินอย่างพอเหมาะไม่มากเกินไป หรือเลือกกินอาหารที่ให้พลังงานต่ำ โดยใช้วิธีต้ม นึ่ง อบ ปิ้ง ย่าง แทนการทอด”     รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ด้านแพทย์หญิงนภาพรรณ  วิริยะอุตสาหกุล ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กล่าวว่า โดยปกติแล้วใน 1 วัน ผู้หญิงปกติควรได้รับพลังงาน 1600 กิโลแคลอรี /วัน แต่ผู้หญิงที่ต้องการลดน้ำหนักต้องได้รับพลังงานไม่น้อยกว่า 1,200 กิโลแคลอรี ผู้ชายปกติควรได้รับพลังงาน 2,000 กิโลแคลอรี /วัน แต่ผู้ชายที่ต้องการลดน้ำหนักควรได้รับพลังงานไม่น้อยกว่า        1,600 กิโลแคลอรี ควรลดน้ำหนักลงอย่างต่อเนื่องสัปดาห์ละครึ่งกิโลกรัม คือลดพลังงานที่ได้จากอาหารวันละ 500 กิโลแคลอรี เราสามารถปรับสูตรง่ายๆ ด้วยหลักการ food plate model หรือที่เรารู้จักกันคือ เมนู 2-1-1 โดยแบ่งส่วนของจานอาหารออกเป็น 4 ส่วน ครึ่งหนึ่งของจานเป็นส่วนของผัก อีก 1 ใน 4 ของจาน เป็นกลุ่มข้าวแป้ง และอีก 1 ใน 4      ของจานเป็นเนื้อสัตว์ต้องเลือกที่ชนิดไม่ติดหนัง ไม่ติดมัน หรืออาจจะเป็นเนื้อปลาปรุงด้วยการต้ม นึ่ง ย่าง และสุดท้ายเพื่อให้ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนเพียงพอต้องมีผลไม้อีก 1 จานเล็กร่วมด้วยทุกมื้อ นมพร่องมันเนยหรือนมขาดมันเนย     รสจืด 1-2 แก้ว ดื่มน้ำเปล่าวันละ 6-8 แก้ว

“ทั้งนี้ การกินอาหารเพื่อควบคุมน้ำหนักไม่ควรงดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง แต่ต้องกินอาหารให้ครบทุกมื้อโดยควบคุมปริมาณให้เหมาะสมและออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที รวมทั้งพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงอย่างครบถ้วนเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย” ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กล่าวในที่สุด