การขับเคลื่อนงาน‘วันดินโลก’ กุยบุรีโมเดล

วันศุกร์ที่ 26 เมษายน 2562 เวลา 13.30 น. นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการขับเคลื่อนกสิกรรมธรรมชาติ เพื่อสนับสนุนนโยบาย “เพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน” Kick off การจัดงานวันดินโลก ปี พ.ศ. 2562 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ World Soil Day 2019 “Stop Soil Erosion, Save our Futur e : ปกป้องอนาคต หยุดการชะล้างดิน” และประกาศเจตนารมณ์การขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน และการจัดตั้งสมัชชาความร่วมมือทรัพยากรดินแห่งประเทศไทย (Thai Soil Partnership ) หรือ TSP โดยมี 7 ภาคีเครือข่าย ดูแลดิน รักษาน้ำ ร่วมกันลงนาม พร้อมด้วยนายภิรมย์ นิลทยา รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวต้อนรับ นายภิญโญ สุวรรณชนะ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 10 กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน ผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ภาคเอกชน วัด กลุ่มประชาชนที่เข้าร่วมโครงการเกษตรยั่งยืนและหมอดินอาสาประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ณ โรงเรียน ตชด.บ้านย่านซื่อ อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

 

 

โครงการขับเคลื่อนกสิกรรมธรรมชาติ เพื่อสนับสนุนนโยบาย “เพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน” Kick off การจัดงานวันดินโลก ปี พ.ศ. 2562 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ World Soil Day 2019 “Stop Soil Erosion, Save our Future : ปกป้องอนาคต หยุดการชะล้างดิน” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 27 เมษายน 2562 ณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยภายในงานมีการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย ดังนี้ วันศุกร์ที่ 26 เมษายน 2562 เป็นการเยี่ยมชมแปลงเกษตร แปลงที่ 2 กิจกรรมเอามื้อถือแรงสามัคคี โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โรงเรียน ตชด. บ้านย่านซื่อ และเยี่ยมชมให้กำลังใจชมรมเกษตรอินทรีย์เพื่อชีวิตบ้านย่านซื่อ ชมการสาธิตการใช้สารชีวภาพทดแทนการใช้สารเคมี กับสวนทุเรียน เงาะ มังคุด รมช.พูดคุยกับลูกศิษย์วางแผนการขับเคลื่อนงาน และปิดท้ายด้วยกิจกรรมฐานเรียนรู้ “สุขภาพแบบบ้านๆ” โดยกลุ่มท่องเที่ยวตามศาสตร์พระราชา และวันเสาร์ที่ 27 เมษายน 2562 ภายหลังประกาศเจตนารมณ์ ปี พ.ศ. 2562 อย่างเป็นทางการ

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรสหกรณ์ ยังได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “สืบสานศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาเกษตรกรรมที่ยั่งยืน” ณ โรงเรียน ตชด. บ้านย่านซื่อ และเยี่ยมชมแปลงเกษตร แปลงที่ 3 กิจกรรมเอามื้อถือแรงสามัคคี เที่ยวทำดีตามรอยพ่อ พร้อมทั้งทำพิธีเปิดป้ายแปลงต้นแบบโครงการท่องเที่ยวตามศาสตร์พระราชาและแปลงฟื้นฟูเพื่อวันดินโลก ณ บ้านนายวิโรจน์ สูงยิ่ง บ้านพุบอน ตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และปิดท้ายงานด้วยการเปิดเวทีชาวบ้าน ชมสื่อ สรุปกิจกรรมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดย อ.ไตรภพ โคตรวงษา และทีมงานอาจารย์ประจำสาขาวิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ และประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ

ทั้งนี้ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดโครงการฯ ว่าประเทศสมาชิกสมัชชาความร่วมมือทรัพยากรดินแห่งเอเชีย (Asian Soil Partnership หรือ ASP) เสนอให้ตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย หรือ CESRA โดยให้ประเทศไทยเป็นผู้นำจัดตั้งศูนย์ CESRA เพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูล การวิจัย และนวัตกรรมด้านทรัพยากรดินของภูมิภาค ส่งเสริมงานวิจัยสร้างเครือข่ายศูนย์วิจัยด้านการบริหารจัดการทรัพยากรดิน และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลด้านทรัพยากรดิน นอกจากนี้ ได้ตั้ง Thai Soil Partnership หรือ TSP เพื่อเป็นกลไกสำคัญเชื่อมโยงความร่วมมือไปยัง ASP และทั่วโลก เพื่อให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรดินยั่งยืน จึงเห็นได้ว่าทั่วโลกต่างให้ความสำคัญในการพัฒนาดินเป็นอย่างมาก โดยประเทศสมาชิกจะร่วมกันจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองวันดินโลกพร้อมกัน และจะกำหนดหัวข้อหลักการจัดงานของแต่ละปี โดยคัดเลือกประเด็นที่ต้องการผลักดันให้เกิดข้อสรุปหรือผลกระทบเพื่อสนองต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของโลกและประเทศต่างๆ ทั่วโลก และจะมีกิจกรรมรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดินในวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งกรมพัฒนาที่ดิน ได้จัดกิจกรรมวันดินโลกเป็นประจำทุกปี เพื่อให้เป็นวาระสำคัญในการสื่อความสำคัญของทรัพยากรดินให้เป็นที่รับทราบในวงกว้าง โดยในปี พ.ศ. 2562 จะเป็นการจัดงานในหัวข้อ “Stop Soil Erosion, Save our Future :ปกป้องอนาคต หยุดการชะล้างดิน” ซึ่งเน้นความสำคัญเรื่องการชะล้างดินที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ และหยุดสารพิษในพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่ทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ปัจจุบันสภาพการผลิตสินค้าเกษตรมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีการแข่งขันกันสูง ส่งผลให้เกษตรกรประสบปัญหาในด้านต้นทุนการผลิตและตลาด โดยเฉพาะเกษตรกรที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ดังนั้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอาชีพเกษตรกรรม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยภาคประชาสังคมจึงต้องร่วมมือกัน พร้อมที่จะปฏิบัติตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2561-2564) ที่ได้กำหนดเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนให้ได้ไม่น้อยกว่า 5,000,000 ไร่ ภายในปี 2564 โดยได้กำหนดเป้าหมายการทำเกษตรกรรมยั่งยืนไว้ที่ 250,000 ไร่โดยจะสนับสนุนให้มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตจากพืชเชิงเดี่ยวไปสู่เกษตรกรรมยั่งยืน อาทิ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ วนเกษตร เกษตรธรรมชาติ และเกษตรกรรมรูปแบบอื่น ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะดำเนินการผลักดันเพื่อให้เกิดการเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน โดยใช้กลไกการทำงานในระดับพื้นที่ จากภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม ซึ่งหมายถึง ภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และปราชญ์ชาวบ้านทุกระดับ ร่วมมือกันขับเคลื่อนเพื่อให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จ

การประกาศเจตนารมณ์ “กุยบุรีโมเดล”“Stop Soil Erosion, Save our Future : ปกป้องอนาคต หยุดการชะล้างดิน” ในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย ผู้แทนจากทุกอำเภอประกอบด้วย เกษตรกร องค์กรจากเกษตรกร ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ทั้งระดับอำเภอและระดับจังหวัด เพื่อมารับฟังนโยบายและแนวทางในการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน ตลอดทั้งประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

“ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกัน ภาคเกษตรของไทยจะรอดหรือไม่รอดขึ้นอยู่กับการปรับตัว เนื่องจากปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจของโลกกำลังตกต่ำลงทุกขณะ ส่งผลให้อาหารโลกเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ประชากรโลกเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ในขณะที่อาหาร และอากาศบริสุทธิ์ลดน้อยลง ดังนั้น ระบบการผลิตทุกด้านจึงต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ทุกโรงพยาบาล ทุกโรงเรียน ทุกโรงแรม ต้องมีอาหารปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค โดยรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการทำเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยมุ่งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ทุกหน่วยงานต้องบูรณาการร่วมกันขับเคลื่อนเกษตรกรรมในทุกระดับพื้นที่ เน้นการลงมือทำ เพื่อผลักดันให้เกษตรกรรมของจังหวัดเกิดความยั่งยืนต่อไป” นายวิวัฒน์ กล่าว

————————————————————