รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 5 มิถุนายน 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 5 มิถุนายน 2565 ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565
กรุงเทพมหานครและกรมทางหลวงร่วมลงพื้นที่บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต และถนนช่างอากาศอุทิศ เพื่อกำหนดแผนการระบายน้ำ โดยมีข้อสรุปดังนี้

(1) ให้สำนักการระบายน้ำ ดำเนินการ
– เปิดบ่อพักถนนช่างอากาศอุทิศ ตอนลงคลองเปรมประชากรเพิ่ม
– จัดหาเครื่องสูบน้ำไฮดรอลิค ขนาด 16 นิ้ว มาติดตั้งหลังจากดำเนินการเปิดบ่อพักแล้วเสร็จ
– นำรถดูดล้างท่อระบายน้ำในถนนช่างอากาศอุทิศ
– ประสานงานกับสำนักงานเขต จัดหาเครื่องสูบน้ำเพื่อสูบส่งต่อเป็นช่วงๆ ภายในซอยช่างอากาศอุทิศ 16 ให้ออกมาถนนช่างอากาศอุทิศ เพื่อเร่งระบายน้ำภายในหมู่บ้านปิ่นทองที่ท่วมขัง

(2) ให้กรมทางหลวง ดำเนินการ
– เปิดทางน้ำไหล ขุดลอกคูน้ำถนนวิภาวดีรังสิต ตั้งแต่แยกสุทธิสารถึงแยกงามวงศ์วาน
– ให้รื้อเนินดินถุง Big Bag และขุดลอกปากบ่อท่อลอดถนนวิภาวดีรังสิต ช่วงทางเข้าสถานีสูบน้ำรัชวิภา
– ให้ลอกท่อลอดถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อให้น้ำจากคลองด่วนเข้าสถานีสูบน้ำรัชวิภา ได้ดียิ่งขึ้น

(3) ให้จิตอาสาดำเนินการล้างท่อระบายน้ำภายในซอยช่างอากาศอุทิศ 16

2. สภาพอากาศ
การคาดการณ์สภาพอากาศ ในช่วงวันที่ 4 – 6 มิ.ย. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและประเทศจีนตอนใต้ ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น และมีตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ 46,105 ล้าน ลบ.ม. (56%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำ 40,208 ล้าน ลบ.ม. (56%) ขนาดกลาง 355 แห่ง ปริมาณน้ำ 3,450 ล้าน ลบ.ม. (63%) และขนาดเล็ก 139,894 แห่ง ปริมาณน้ำ 2,448 ล้าน ลบ.ม. (48%) สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์น้ำมาก ได้แก่ เขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนน้ำพุง

4. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดอบรมและสอบปฏิบัติการรายวิชาการจัดการในสถานการณ์ฉุกเฉิน สำหรับนิสิต หลักสูตรการจัดการความเสี่ยงและภัยพิบัติ เพื่อฝึกทักษะการสร้างแผนรับมือสถานการณ์ก่อนเกิดภัยและระหว่างเกิดภัย ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงภัย และกำหนดทางเลือก ในการบริหารจัดการกำลังคนและเครื่องจักรเครื่องมือที่มีอยู่อย่างจำกัดได้ โดยใช้องค์ความรู้เรื่องการจัดการภัยพิบัติ ข้อมูลสารสนเทศด้านทรัพยากรน้ำ และเทคโนโลยีสนับสนุนในการวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำ