กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พัฒนาการตรวจวิเคราะห์การปนปลอมยาแผนปัจจุบันในอาหารเสริมทราบผลภายใน 24 ชั่วโมง

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาศักยภาพการตรวจวิเคราะห์การปนปลอมของยาแผนปัจจุบันในอาหารให้ครอบคลุมชนิดของสารที่มีการนำมาใช้ ปัจจุบันได้ทำการตรวจวิเคราะห์ยาในกลุ่มที่จับตามองพิเศษ (priority watch list) 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ กลุ่มยาลดความอ้วน กลุ่มยาระบาย  กลุ่มยาสเตียรอยด์ และกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท รวมทั้งปรับขั้นตอนการดำเนินงานและระยะเวลาการตรวจ  ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า อาหารที่มีการนำยาแผนปัจจุบันมาผสม จัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ และเป็นสิ่งผิดกฎหมาย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ได้ร่วมกันเฝ้าระวัง  การปนปลอมยาแผนปัจจุบันในอาหารมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2560 ได้ทำการตรวจวิเคราะห์อาหาร  โดยแบ่งเป็น กาแฟสำเร็จรูปชนิดผง พบการปนปลอมของยาแผนปัจจุบันในอาหารเสริม ได้แก่ ไซบูทรามีนในกลุ่มยาลดความอ้วน  ร้อยละ 3 ซิลเดนาฟิลในกลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ร้อยละ 30 และตรวจพบเดกซาเมธาโซน ในกลุ่มยาสเตียรอยด์ ร้อยละ 8 ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร พบว่ามีการปนปลอมกลุ่มยาลดความอ้วน ร้อยละ 24 ซึ่งส่วนใหญ่ ตรวจพบไซบูทรามีน ออลิสแตท และยาผสมทั้งสองชนิดร่วมกัน และพบกลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ร้อยละ 29  ส่วนใหญ่พบการปนปลอมซิลเดนาฟิล และเครื่องดื่ม ตรวจพบไซบูทรามีนในกลุ่มยาลดความอ้วน ร้อยละ 3

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีการพัฒนาขยายศักยภาพการตรวจให้ครอบคลุมชนิดสารที่นำมาใช้และปัจจุบันได้ตรวจวิเคราะห์ยาในกลุ่มที่จับตามองพิเศษ (priority watch list)  ทั้งสิ้น 5 กลุ่ม  16 ชนิด ได้แก่ กลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (ซิลเดนาฟิล, ทาดาลาฟิล และวาร์เดนาฟิล) กลุ่มยาลดความอ้วน (เอฟีดรีน, ซูโดเอฟีดีน, ออลิสแตท, เฟนฟลูรามีน, เฟนเทอร์มีน, ฟูออกซิทีน และไซบูทรามีน) กลุ่มยาระบาย (ฟีนอล์ฟทาลีน)กลุ่มยาสเตียรอยด์ (เดกซาเมธาโซน และเพรดนิโซโลน) และกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท (อัลปราโซแลม, ไดอะซีแพม และลอราซีแพม) และปรับการดำเนินงานตรวจวิเคราะห์ยาแผนปัจจุบันปนปลอมในอาหารกรณีเร่งด่วน 1 ตัวอย่าง  1 รายการวิเคราะห์ สามารถรายงานผลภายใน 24 ชั่วโมง หรือ 1 วันทำการหลังจากรับตัวอย่างเข้าห้องปฏิบัติการ  ในกรณีที่ตรวจไม่พบสารปนปลอม แต่หากตรวจพบจะต้องตรวจวิเคราะห์ยืนยันด้วยวิธี และเครื่องมือขั้นสูง สามารถรายงานผลได้ใน 2 วันทำการ ส่วนกรณีปกติ กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จภายใน 3 วันทำการ

“ในการเฝ้าระวัง พบว่า อาหารเสริมมีการปนปลอมยาแผนปัจจุบัน ดังนั้นหากผู้บริโภคประสงค์จะใช้ผลิตภัณฑ์    อาหารเสริม ไม่ควรหลงเชื่อคำโฆษณา ควรใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อ เลือกผลิตภัณฑ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้  เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการได้รับอันตรายจากผลข้างเคียงของยาที่ปนปลอม แต่หากมีอาการผิดปกติหลังการรับประทานผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ให้หยุดรับประทาน รีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป” นายแพทย์สุขุมกล่าว