อย. เผยมาตรการกำกับดูแลอาหารจีเอ็มโอ เพิ่มความปลอดภัยผู้บริโภค

อย. เผยมีมาตรการกำกับดูแลพืชผักจีเอ็มโออย่างเข้มงวด และได้ออกประกาศเพิ่ม 2 ฉบับ ขณะนี้อยู่ระหว่างประกาศในราชกิจจานุเบกษา

นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่สภาองค์กรของผู้บริโภคได้จัดแถลงข่าว “ผักผลไม้ GMOs บุกไทย หน่วยงานรัฐใดต้องรับผิดชอบ หวั่นปนเปื้อนผลไม้พื้นถิ่น ผู้บริโภคเสี่ยง กระทบการส่งออกผลไม้” ซึ่งเรียกร้องให้ภาครัฐจัดการปัญหาลักลอบนำเข้า ผักผลไม้จีเอ็มโอ โดยเฉพาะสับปะรดสีชมพูนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เพิ่มมาตรการกำกับดูแลตามกฎหมาย โดยกำหนดให้อาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรมหรือ GMO เป็นอาหารห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย เว้นแต่ผ่านการประเมินความปลอดภัยตามเกณฑ์ที่กำหนด และแก้ไขให้อาหาร GMO ทุกชนิดต้องแสดงฉลากตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องอาหารจากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม และประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการแสดงฉลากครอบคลุมอาหารที่ได้จากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม ขณะนี้ ประกาศฯ ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว อยู่ระหว่างประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลใช้บังคับทางกฎหมายต่อไป

สับปะรด จัดเป็นอาหารทั่วไป ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 การนำเข้าซึ่งอาหารเพื่อจำหน่ายต้องมีใบอนุญาตนำเข้า และผ่านการตรวจสอบของด่านอาหารและยา แต่สับปะรดสีชมพูเป็นสิ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 การนำเข้าจึงต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายดังกล่าว

อย. ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เฝ้าระวังการนำเข้าสับปะรดสีชมพูอย่าง เข้มงวด และจากการตรวจสอบของทั้ง 2 หน่วยงาน ไม่พบข้อมูลการนำเข้าสับปะรดสีชมพู แต่จากการที่พบมีการจำหน่ายเชื่อว่าไม่ผ่านตามขั้นตอนของกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 หน่วยงานจะประสานกับกรมศุลกากรเพื่อเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ป้องกันไม่ให้มีการลักลอบนำเข้าสับปะรดสีชมพูเข้ามาในประเทศต่อไป รองเลขาธิการฯ กล่าวในที่สุด