หยุดความรุนแรง ปกป้องสิทธิสตรี

หลายครั้งที่ข่าวของการถูกล่วงละเมิดทางเพศปรากฎให้เห็นตามสื่อต่าง ๆ ผู้ตกเป็นเหยื่อไม่กล้าที่จะเผชิญหน้าและแจ้งความร้องทุกข์ เพียงเพราะไม่อยากให้ใครรู้ว่า เขา หรือ เธอ เป็นผู้ถูกกระทำที่ได้รับผลกระทบทั้งร่างกายและจิตใจ อย่าปล่อยให้ปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศเป็นเรื่องที่ถูกสังคมเพิกเฉย ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สังคมต้องให้ความสำคัญและอยู่เคียงข้างผู้ถูกกระทำ ร่วมกันหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง เพื่อปกป้องไม่ให้ลูกหลานของครอบครัวไหนต้องเจอกับเหตุการณ์ที่เป็นเหมือนฝันร้ายเช่นนี้อีก

ตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบของสหประชาชาติ หรือ อนุสัญญา CEDAW ‘การถูกคุกคามทางเพศ’ ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง ผลสำรวจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กสม. พบว่า รายงานสถิติสตรีที่ถูกกระทำรุนแรงและถูกล่วงละเมิดในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น และการคุกคามทางเพศ ยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ผู้ตกเป็นเหยื่อมักไม่มีความกล้าที่จะเปิดเผยเรื่องราวที่เกิดขึ้น รวมถึงอุปสรรคในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการได้รับการฟื้นฟูเยียวยาทางร่างกายและจิตใจให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ

ปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศเป็นเรื่องที่สังคมไทยไม่ควรมองข้าม เพื่อร่วมกันหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น สสส. และภาคีเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชนจัดงานเสวนาวิชาการ เรื่อง “ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ : ปกป้อง คุ้มครองสิทธิผู้ตกเป็นเหยื่ออย่างไร?” เพื่อร่วมกันระดมข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาจากทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงผู้ตกเป็นเหยื่อ เพื่อสร้างความตระหนักให้สังคมในการปกป้องสิทธิของตนเอง และแนวทางการช่วยเหลือให้ผู้เสียหายได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการเยียวยาที่เหมาะสม

รศ.ดร. กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สะท้อนถึงปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในประเทศไทย ว่า ความรุนแรงทางเพศเป็นปัญหาใหญ่อันดับหนึ่งในสังคมไทย สะท้อนให้เห็นความผิดปกติของสังคม และเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน สังคมไทยไม่ควรนิ่งเฉยกับปัญหาการล่วงละเมิดในเด็กและสตรี ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อต้องเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ได้รับการปกป้อง คุ้มครองสิทธิจากกฎหมาย รวมทั้งได้รับการเยียวยาที่เหมาะสมและเป็นธรรม” รศ.ดร. กฤตยา กล่าว

พร้อมทั้งเสนอแนะ “สิ่งที่สังคมไทยต้องเสริมสร้าง” ในการแก้ไขปัญหาล่วงละเมิดทางเพศ และปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้ตกเป็นเหยื่อ ดังนี้

1.พัฒนาคู่มือการเรียนรู้และแก้ปัญหาของผู้ถูกกระทำให้คนเข้าถึงได้หลากหลายช่องทาง

2.พัฒนาสื่อเรียนรู้เรื่อง sexual consent ให้กับกลุ่มคนทำงานที่ต้องเผชิญกับการจัดการเรื่องความรุนแรงทางเพศ ได้แก่ ครู ตำรวจ ทนาย อัยการ และผู้พิพากษา รวมถึงเจ้าหน้าที่ศูนย์พึ่งได้ และเจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและผู้หญิงของ พม.

3.พัฒนาระบบการทำงานช่วยเหลือเยียวยาผู้ถูกล่วงละเมิด ที่สามารถประสานส่งต่อระหว่างหน่วยงานสหสาขาทั้งภาครัฐและเอกชน

4.สนับสนุนให้องค์กรรัฐและองค์กรอิสระมีนโยบายป้องกันความรุนแรงทางเพศทุกรูปแบบเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน โดยเฉพาะในสถานศึกษาทุกแห่ง

5.ยกเครื่องกระบวนการยุติธรรม ทนาย ตำรวจ อัยการ และศาล ในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศทุกด้าน ตั้งแต่ความเข้าใจรากเหง้าของความรุนแรงที่เกิดขึ้น แนวทางการสอบสวนดำเนินคดี ไปจนถึงการพิจารณาในชั้นศาลที่ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงซ้ำซ้อน

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรง การถูกล่วงละเมิดทางเพศของผู้หญิง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนยังคงน่าเป็นห่วงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มิหนำซ้ำยังถูกกระทำจากคนในครอบครัวหรือคนที่รู้จัก ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย ผู้ตกเป็นเหยื่อส่วนใหญ่ซึ่งเป็นเด็กและเยาวชน ไม่มีอำนาจต่อรอง และไม่กล้าที่จะเปิดเผยความจริง เพราะกลัวจะไม่มีใครเชื่อ ถูกตีตราจากคนรอบข้าง และเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่สังคมไทยยังแก้ไขไม่ได้

“มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่ายทำงานขับเคลื่อนเรื่องสุขภาวะทางเพศ สร้างเสริมสุขภาวะของเด็กและสตรี ลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และส่งเสริมให้มีพื้นที่ปลอดภัยในสถานที่ต่าง ๆ เช่น ขนส่งสาธารณะ และเสนอนโยบายสร้างพื้นที่ปลอดภัยในกรุงเทพมหานครที่เป็นจุดเสี่ยงกว่า 700 แห่งพร้อมสนับสนุนให้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ต้นแบบด้านความปลอดภัยให้กับพื้นที่อื่น ๆ ด้วย” นายจะเด็จ กล่าว

ปัญหาการถูกล่วงละเมิดในเด็กและสตรี เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ ร่วมกันแก้ไข และหาแนวทางป้องกันปัญหานี้อย่างจริงจัง เพื่อให้ผู้ตกเป็นเหยื่อได้รับการคุ้มครองตามสิทธิ เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและได้รับการเยียวยาที่เหมาะสม ช่วยเหลือและส่งเสริมให้ผู้ตกเป็นเหยื่อก้าวข้ามปัญหาความรุนแรงนี้ไปให้ได้ โดยไม่ให้ใครต้องโดดเดี่ยวหรือต่อสู้เพียงลำพัง

สสส. และภาคีเครือข่ายเชิญชวนคนไทยสร้างค่านิยมการเคารพสิทธิความเสมอภาคทางสังคม หยุดทุกความรุนแรง เพื่อสุขภาวะที่ดีของเด็กและสตรี