“สินิตย์ เลิศไกร” เปิดตัว 2 GI ไทย“ผ้าตีนจกโหล่งลี้ลำพูน – มะม่วงน้ำดอกไม้สมุทรปราการ” หวังดึงอัตลักษณ์ชุมชนช่วยขับเคลื่อนฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เข้มแข็ง

“พาณิชย์” ประกาศขึ้นทะเบียน GI เพิ่มอีก 2 สินค้า “ผ้าตีนจกโหล่งลี้ลำพูน-มะม่วงน้ำดอกไม้สมุทรปราการ” มั่นใจช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า สร้างรายได้ให้ชุมชน เผยล่าสุดมีสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ไทยแล้วรวม 158 สินค้า เตรียมลุยควบคุมมาตรฐาน เพิ่มช่องทางจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศต่อไป

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพิ่มอีก 2 สินค้า คือ ผ้าตีนจกโหล่งลี้ลำพูน และ มะม่วงน้ำดอกไม้สมุทรปราการ เป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงในท้องถิ่นและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค

โดยการขึ้นทะเบียน GI ได้ช่วยให้เกิดการคุ้มครองชื่อสินค้าท้องถิ่นไทยให้เป็นสิทธิเฉพาะของชุมชน มีการควบคุมรักษามาตรฐานของสินค้า สร้างความเชื่อมั่นในแหล่งต้นกำเนิดของสินค้าที่มีคุณภาพ และช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและสร้างรายได้ให้ชุมชนโดยเฉพาะสินค้าเกษตรกรรมและหัตถกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและผลิตในท้องถิ่นนั้น

สำหรับ “ผ้าตีนจกโหล่งลี้ลำพูน” เป็นผ้าซิ่นตีนจกทอจากเส้นฝ้าย จกด้วยมือชาวบ้านเกษตรกรอย่างประณีตตามกรรมวิธีดั้งเดิม องค์ประกอบของผ้า โดยมีองค์ประกอบของผ้า ได้แก่ แอวซิ่น (เอวซิ่น) ตัวซิ่น และตีนจก ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะพื้นถิ่น ผืนผ้าแน่นเรียบ เส้นฝ้ายไม่หลุดลุ่ย สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการ
ในอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน กว่า 630,000 บาท/ปี

ในส่วนของ “มะม่วงน้ำดอกไม้สมุทรปราการ” เป็นมะม่วงน้ำดอกไม้พันธุ์น้ำดอกไม้เบอร์ 4 รสชาติหวานละมุน ไม่หวานแหลม มีกลิ่นหอม เปลือกบาง เนื้อสีเหลืองอมส้ม เนื้อละเอียด ไม่มีเสี้ยน เม็ดเล็กแบนลีบ มีผลทรงรี ด้านขั้วผลมีขนาดใหญ่และเล็กลงที่ท้ายผลหรือปลายแหลม ผลสุกมีผิวสีเหลืองเข้ม หรือเหลืองทอง สร้างรายได้ให้เกษตรกรในจังหวัดสมุทรปราการกว่า 42,000,000 บาท/ปี

ทั้งนี้ การขึ้นทะเบียน GI ให้กับสินค้าในท้องถิ่น ช่วยยกระดับสินค้าชุมชนให้เป็นสินค้าระดับพรีเมี่ยม สร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างาน สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนและเกษตรกรในพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยหลังจากขึ้นทะเบียนแล้ว กรมฯ ได้ผลักดันให้จังหวัดจัดทำระบบควบคุมมาตรฐานสินค้าและการอนุญาต ให้ใช้ตรา GI ไทย เพื่อให้ชุมชนมีกระบวนการผลิตอย่างเป็นระบบ สินค้ามีคุณภาพมาตรฐาน รวมทั้งได้ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า GI ไทย โดยการพัฒนาสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับตลาดยุคใหม่ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค เพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าในโมเดิร์นเทรดและศูนย์การค้าชั้นนำและตลาดออนไลน์ ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลของสินค้า GI ผ่านช่องทางต่างๆ ให้เป็นที่รู้จักและเข้าถึงผู้บริโภค ในวงกว้าง สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่น ซึ่งที่ผ่านมาสินค้า GI ไทยของทั้ง 77 จังหวัด รวม 158 สินค้า สามารถสร้างมูลค่าทางการตลาดได้มากกว่า 40,000 ล้านบาท