“ราชทัณฑ์…เร่งดำเนินการลอกท่อช่วยงานสาธารณะ ไม่ถือเป็นค่าจ้างแต่เป็นรางวัลตอบแทน รวมถึงได้ลดวันต้องโทษ”

วันที่ 1  มิถุนายน 2565 นายธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์และโฆษก กรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า จากที่กรมราชทัณฑ์ได้รับนโยบายจากนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในการออกทำงานสาธารณะเพื่อประโยชน์ของทางราชการนอกเรือนจำ ด้วยการใช้แรงงานนักโทษเด็ดขาดขุดลอกท่อระบายน้ำ เพื่อช่วยแบ่งเบาและแก้ปัญหาการจัดการระบบระบายน้ำในสถานที่ต่างๆ  นั้น

ปัจจุบันหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19  ภายในเรือนจำคลี่คลายลงกรมราชทัณฑ์ ได้เร่งวางแผนและดำเนินการเกี่ยวกับภารกิจการจ่ายนักโทษเด็ดขาดออกทำงานสาธารณะ และงานอื่นใดเพื่อประโยชน์ของทางราชการนอกเรือนจำ ซึ่งงานขุดลอกท่อระบายน้ำจัดเป็นการทำงานสาธารณะภายใต้พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 มาตรา 48 นับเป็นกระบวนการสำคัญในการพัฒนาพฤตินิสัยผ่านการทำงานบริการสังคม การพัฒนานักโทษเด็ดขาดให้รู้จักการอุทิศตนในการทำประโยชน์เพื่อสังคมนั้น จัดเป็นแนวคิด การพัฒนาพฤตินิสัยที่มุ่งเน้นให้นักโทษเด็ดขาดได้มีโอกาสในการทำความดีเพื่อสังคม

แม้ในพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 มาตรา 50 ระบุว่า ผู้ต้องขังไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างจากการงานที่ทำ แต่อาจได้รับเงินรางวัลตอบแทนจากการงานนั้นได้ เนื่องจากการทำงานของนักโทษเด็ดขาดภายใต้ภารกิจของกรมราชทัณฑ์ถือเป็นการพัฒนาพฤตินิสัยในรูปแบบของการทำงาน ซึ่งการทำงานย่อมได้รับการตอบแทนเหมือนกับประชาชนทั่วไป ในมิติด้านเงินรางวัลตอบแทน ตามกฎกระทรวงการคำนวณรายได้เป็นราคาเงินและการจ่ายเงินรางวัลให้แก่ผู้ต้องขังซึ่งการงานที่ได้ทำนั้นก่อให้เกิดรายได้  คำนวณเป็นราคาเงินได้ พ.ศ.2563 ระบุให้จ่ายเงินรางวัลในสัดส่วนร้อยละ 70 ของกำไรทั้งหมดแก่นักโทษเด็ดขาดสำหรับส่วนที่เหลือกำหนดให้นำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

สำหรับมิติด้านการบริหารโทษ นักโทษเด็ดขาดที่ออกทำงานสาธารณะหรืองานอื่นใดเพื่อประโยชน์ของทางราชการนอกเรือนจำจะได้รับวันลดวันต้องโทษจำคุกจากการทำงานนั้น เช่น นักโทษเด็ดขาดออกทำงาน 5 วัน จะได้รับวันลดวันต้องโทษจำคุกลดลงจากกำหนดโทษ 5 วัน เป็นต้น ดังนั้น นักโทษเด็ดขาดที่ออกทำงานขุดลอกท่อระบายน้ำ นอกจากจะได้รับเงินรางวัลตอบแทนแล้ว ยังได้รับวันลดวันต้องโทษจำคุกที่ทำให้พ้นโทษได้รวดเร็วขึ้น ถือเป็นการสร้างแรงจูงใจให้แก่นักโทษเด็ดขาด และมีนักโทษเด็ดขาดจำนวนมากที่มีความเต็มใจและประสงค์ออกทำงานสาธารณะดังกล่าว

นายธวัชชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กรมราชทัณฑ์ยังมีกลไกการสร้างสวัสดิภาพจาก การทำงานของนักโทษเด็ดขาดภายใต้กฎกระทรวงการรับเงินทำขวัญของผู้ต้องขัง  ซึ่งได้รับบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือตาย เนื่องจากการทำงาน พ.ศ.2563 ซึ่งนักโทษเด็ดขาดที่ประสบเหตุจากการทำงานจะได้รับเงินค่าทำขวัญตั้งแต่ 10,000 ถึง 120,000 บาท เป็นการแสดงให้เห็นว่า กรมราชทัณฑ์มีความใส่ใจต่อการทำงานของนักโทษเด็ดขาดในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การกำหนดมาตรการความปลอดภัยในการทำงาน ระบบเงินรางวัลที่เหมาะสมต่อการทำงาน ไปจนถึงสวัสดิภาพจากการทำงานที่สอดคล้องกับการจ้างแรงงานทั่วไป