ดีป้า จับมือสถาบันการศึกษา พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ยกระดับทักษะนักเรียน-นักศึกษา รับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

31 พฤษภาคม 2565, กรุงเทพมหานคร – ดีป้า เดินหน้ายกระดับทักษะสำคัญแห่งศตวรรษที่ 21 แก่นักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา 41 โรงเรียน โดยสานต่อการยกระดับพื้นที่การเรียนรู้ด้าน Coding, STEM, IoT และ AI พร้อมพัฒนาศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลระดับอาชีวศึกษาเพื่ออุตสาหกรรมแห่งอนาคตใน 3 วิทยาลัย คาดช่วยพัฒนาทักษะกำลังคนดิจิทัลทั่วประเทศ กว่า 6,000 คน รองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการส่งเสริมและสนับสนุนมีมติเห็นชอบโครงการที่ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลที่ผ่านการกลั่นกรองจากผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่าง ๆ ประกอบด้วย โครงการยกระดับโรงเรียนสู่การเรียนรู้ด้าน Coding, STEM, IoT และ AI ระยะที่ 2 จำนวน 41 โรงเรียนจากเป้าหมาย 80 โรงเรียนทั่วประเทศ แบ่งเป็น 13 โรงเรียนจาก 7 จังหวัดภาคใต้ 13 โรงเรียนจาก 9 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 โรงเรียนจาก 7 จังหวัดภาคเหนือ และ 5 โรงเรียนจาก 4 จังหวัดภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก

“โครงการดังกล่าวเป็นการขยายผลจากโครงการฯ ระยะที่ 1 ที่สามารถพัฒนาทักษะด้าน Coding, STEM, IoT และ AI ให้กับนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาได้กว่า 80,000 คน ซึ่งโครงการยกระดับโรงเรียนสู่การเรียนรู้ด้าน Coding, STEM, IoT และ AI ระยะที่ 2 ฝ่ายส่งเสริมการพัฒนากำลังคนดิจิทัล ดีป้า จะยังคงร่วมยกระดับพื้นที่การเรียนรู้ พร้อมส่งเสริมการสอนการเรียนรู้ด้านโค้ดดิ้ง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนอุปกรณ์ดิจิทัล เพื่อการศึกษาแก่เยาวชนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โดยประเมินว่า โครงการฯ ระยะที่ 2 จะช่วยพัฒนาทักษะสำคัญแห่งศตวรรษที่ 21 ให้กับนักเรียนเพิ่มกว่า 5,000 คน” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

โครงการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลระดับอาชีวศึกษาเพื่ออุตสาหกรรมแห่งอนาคต จำนวน 3 วิทยาลัย ประกอบด้วย ศูนย์การเรียนรู้ด้าน Coding & IoT & Robotics วิทยาลัยเทคนิคนครโคราช ซึ่งตั้งเป้ามีนักเรียนอาชีวศึกษาเข้าใช้บริการรวม 500 คน/ปี และมีประชาชนทั่วไปเข้าฝึกอบรมมากกว่า 50 คน/ปี ศูนย์การเรียนรู้ด้าน Coding & IoT วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี ตั้งเป้ามีนักศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องร่วมพัฒนาทักษะดิจิทัล 200 คน/ปี นักศึกษาและบุคลากรทั่วไปพัฒนาทักษะดิจิทัล 50 คน/ปี และศูนย์การเรียนรู้นวัตกรรมด้าน IoT และ Coding วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี ตั้งเป้ามีนักเรียนสามารถเรียนรู้ทักษะดิจิทัล 200 คน/ปี และบุคลากรได้รับการยกระดับทักษะด้าน Coding และ IoT 10 คน/ปี

ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า โครงการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลระดับอาชีวศึกษาเพื่ออุตสาหกรรมแห่งอนาคตมีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเรียนรู้ด้าน Coding และ IoT พร้อมยกระดับการเรียนการสอนแก่นักเรียน นักศึกษาในระดับอาชีวศึกษา อีกทั้งเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการภาคเอกชน และสถาบันอาชีวศึกษาในการพัฒนาหลักสูตรด้าน Coding & IoT & Robotics รวมถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง โดยตั้งเป้ายกระดับกำลังคนดิจิทัลรวม 1,010 คน โดยแบ่งเป็นนักเรียน จำนวน 900 คน บุคลากรทางการศึกษาและบุคคลภายนอกที่สนใจรวม 110 คน เพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งทั้ง 2 โครงการถือเป็นการเตรียมความพร้อมกำลังคนดิจิทัลรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของประเทศในระยะต่อไป

สำหรับสถาบันการศึกษาที่สนใจเข้าร่วมโครงการยกระดับโรงเรียนสู่การเรียนรู้ด้าน Coding, STEM, IoT และ AI สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.depa.or.th พร้อมรับข้อมูลข่าวสารสำคัญ รวมถึงความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของ ดีป้า และโลกดิจิทัลได้ทางเฟซบุ๊กเพจ depaThailand และ LINE OA: depaThailand