ทำไมไทยต้องประกาศอัตราเงินเฟ้อ และดัชนีเศรษฐกิจการค้าเป็นประจำ ในช่วงสัปดาห์แรกของทุกเดือน

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผยว่า ตัวเลขดัชนีเศรษฐกิจการค้า อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ได้จัดทำและเผยแพร่เป็นประจำ โดย สนค. ในฐานะผู้แทนประเทศไทยนั้น เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่องค์กรระหว่างประเทศรับรอง โดยเฉพาะการเผยแพร่ตัวเลขประจำเดือน ได้กำหนดปฏิทินการแถลงตัวเลขที่ชัดเจนไว้ล่วงหน้า ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงวันที่ 4-7 ของเดือนถัดไป ซึ่งเป็นการเผยแพร่ตัวเลขดัชนีเศรษฐกิจการค้าที่รวดเร็วเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

ดัชนีเศรษฐกิจการค้าหลักที่สำคัญที่มีการเผยแพร่เป็นประจำทุกเดือน ประกอบด้วย ดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดเงินเฟ้อของประเทศ ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยการกำหนดวันเผยแพร่ เป็นไปตามข้อตกลงว่าด้วยการเผยแพร่ข้อมูลเศรษฐกิจและการเงิน ตามมาตรฐานระดับสูง (Special Data Dissemination Standard : SDDS) ที่ สนค. และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)ได้มีข้อตกลงร่วมกันว่า จะมีการเผยแพร่ข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิต ที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลด้านการจัดทำและการเผยแพร่ข้อมูล ภายในเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ของเดือนถัดไป

โดยมีการจัดทำปฏิทินกำหนดการเผยแพร่ตลอดทั้งปี เพื่อให้สาธารณชนรับทราบล่วงหน้า ซึ่งได้เผยแพร่ข้อมูลดัชนีเศรษฐกิจการค้าผ่านช่องทางที่หลากหลาย ทั้งการแถลงข่าว เว็บไซต์ เฟสบุ๊ค และไลน์ เพื่อให้ผู้ใช้ข้อมูลสามารถนำไปใช้ประกอบการวางแผน กำหนดนโยบาย และมาตรการต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที

นายรณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ประเทศไทยสามารถเผยแพร่ข้อมูลได้ค่อนข้างรวดเร็วกว่าหลายประเทศ เพราะ สนค. ในฐานะหน่วยงานหลักในการจัดทำดัชนีเศรษฐกิจการค้า ให้ความสำคัญในกระบวนการจัดทำดัชนีที่ถูกต้อง ทันสมัย และแม่นยำ ตามมาตรฐานสากล โดยได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพมาช่วยในกระบวนการต่าง ๆ ทั้งการสำรวจ/จัดเก็บ ส่งข้อมูล ตรวจสอบ ประมวลผล จัดทำรายงาน และเผยแพร่ข้อมูล รวมถึงการบริหารจัดการฐานข้อมูลที่รวดเร็วและทันสมัย ซึ่งปัจจุบันกำลังพัฒนาปรับปรุงระบบฐานข้อมูล ระบบประมวลผลดัชนีเศรษฐกิจต่าง ๆ ให้สามารถรองรับกับระบบปฏิบัติการใหม่ ๆ ภายใต้ระบบจัดการฐานข้อมูลและโปรแกรมประยุกต์ที่มี Platform และมาตรฐานเดียวกัน

เมื่อพิจารณาการเผยแพร่ข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเทียบกับหลายประเทศทั่วโลก พบว่า ประเทศไทยเผยแพร่ข้อมูลค่อนข้างรวดเร็ว ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่จะเผยแพร่ภายในวันที่ 10-25 ของเดือนถัดไป อาทิ สหรัฐอเมริกา (วันที่ 10-13 ของเดือนถัดไป) สหราชอาณาจักร (วันพุธที่ 2 หรือ 3 ของเดือนถัดไป) ญี่ปุ่น (วันที่ 18-24ของเดือนถัดไป) และมาเลเซีย (ภายในสัปดาห์ที่ 2-4 ของเดือนถัดไป) สำหรับประเทศที่เผยแพร่ข้อมูลในระยะเวลาใกล้เคียงกับไทย ได้แก่ เวียดนาม (วันที่ 28-29 ของเดือนนั้น ๆ) อินโดนีเซีย (วันทำการแรกของเดือนถัดไป) เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ (ไม่เกินวันที่ 5 ของเดือนถัดไป)

นายรณรงค์ กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจากดัชนีเศรษฐกิจการค้าทั้ง 4 ดัชนีที่เผยแพร่ในช่วงวันที่ 4-7 ของเดือนถัดไปแล้ว สนค. ยังมีดัชนีอื่น อาทิ ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้า เผยแพร่ทุกวันที่ 25 ของเดือนถัดไป ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ดัชนีราคาผู้บริโภคกลุ่มบริการ ดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนใต้ ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจัดทำข้อมูลเป็นรายไตรมาส โดยเผยแพร่ข้อมูลในเดือนแรกของไตรมาสถัดไปและยังมีดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางทะเลที่ยังอยู่ระหว่างการจัดทำ ซึ่งจะมีการเผยแพร่ในโอกาสต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อมูลดัชนีเศรษฐกิจการค้าจะเป็นประโยชน์ และสนับสนุนการดำเนินงานของทุกภาคส่วนได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลและข่าวสารดัชนีเศรษฐกิจการค้าได้ที่ www.tpso.moc.go.th www.facebook.com/TPSO.MOC และ Line : @TPSO.Tradeinsights
—————————————–
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
กระทรวงพาณิชย์
31 พฤษภาคม 2565