กรมประมง…ร่วมลงนาม MOU บูรณาการด้านการแพทย์ฉุกเฉินช่วยเหลือประชาชน

วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม 2565 เวลา 14.00 น. ณ อาคารเอนกประสงค์ กรมประมง นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง และเรืออากาศเอก อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือ ว่าด้วยการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ผู้ป่วยฉุกเฉินทางน้ำ เพื่อการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพมาตรฐาน พร้อมสนับสนุนพาหนะ บุคลากร และองค์ความรู้เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ภายใต้ระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ปัจจุบันการเจ็บป่วยฉุกเฉินในทะเลและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากอุบัติเหตุ การบาดเจ็บจากการใช้เครื่องมือทำการประมง การเจ็บป่วยฉุกเฉินด้วยโรคอันตรายต่างๆ รวมทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากจุดเกิดเหตุอย่างรวดเร็ว เพื่อนำส่งสถานพยาบาลที่ได้รับมาตรฐานอย่างทันท่วงที

กรมประมง มีหน่วยงานที่ปฏิบัติการทางน้ำ ทำหน้าที่ในการควบคุม บังคับใช้กฎหมายและช่วยเหลือผู้ประสบภัย จึงถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีความพร้อมในการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุให้สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลให้เร็วที่สุด เนื่องจากกรมฯมีหน่วยงานปฏิบัติงานทางเรือสังกัด “กองตรวจการประมง”ที่ครอบคลุมตลอดแนวชายฝั่งทะเล ทั้งในพื้นที่อ่าวไทยและอันดามัน ตลอดจนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ รวม 45 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์/หน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเล จำนวน 19 แห่ง, ศูนย์/หน่วยป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืด จำนวน 26 แห่ง มีกำลังเจ้าหน้าที่รวม 629 นาย และเรือตรวจการประมงขนาดต่างๆรวม 203 ลำ

ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกนายได้รับการฝึกฝนและอบรมในหลักสูตร “ตรวจการประมง” ซึ่งเป็นหลักสูตรพิเศษสำหรับเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงสูง มีความกดดันจากสภาพอากาศที่เลวร้าย ที่สำคัญ ยังได้มีการอบรมหลักสูตรการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอีกด้วย โดยที่ผ่านมา กรมประมงได้ให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บในทะเลจากการประกอบอาชีพทำการประมงมาโดยตลอด เช่น แขนขาขาด เป็นลม ช็อคหมดสติ ลูกเรือพลัดตกน้ำ และผู้ประสบภัยธรรมชาติทั้งในพื้นที่ทางทะเลและพื้นที่น้ำจืดหลายเหตุการณ์ เช่น กรณีมหาวาตภัย พายุไต้ฝุ่นเกย์ พายุไต้ฝุ่นลินดาในพื้นที่ทะเลอ่าวไทย เหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยหรือสึนามิ เหตุการณ์เรือบรรทุกนักท่องเที่ยวอับปางในพื้นที่ทะเลอันดามัน และเหตุการณ์พายุโซนร้อนโพดูล ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้มีประสิทธิภาพสูงสุด กรมประมง จึงได้ร่วมกับ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ลงนามในบันทึกความร่วมมือ “ว่าด้วยการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ผู้ป่วยฉุกเฉินทางน้ำ เพื่อการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างทั้งสองหน่วยงานในการสนับสนุนปฏิบัติการฉุกเฉิน เพื่อให้มีความพร้อมในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือผู้ประสบภัยทั้งในภาวะปกติและสาธารณภัย พร้อมกับพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉินกำหนด สอดคล้องกับหน้าที่ อำนาจ และความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน นำไปสู่การคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินให้ได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึงเท่าเทียม และมีประสิทธิภาพ

ภายใต้ระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล โดยในส่วนของกรมประมงนั้น มีหน้าที่สนับสนุนด้านการประสานงาน บุคลากร เครื่องมือ ยานพาหนะทั้งทางบก น้ำ ตามที่ได้รับคำขอแล้วแต่กรณี รวมไปถึงระบบการสื่อสารสารสนเทศของกรมประมง และข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการฉุกเฉินทั้งในภาวะปกติและสาธารณภัย ขณะที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติจะสนับสนุนองค์ความรู้ ข้อมูลทางวิชาการ รวมทั้งวิทยากรเพื่ออบรมพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ฉุกเฉินให้กับบุคลากรของกรมประมง รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการจัดทำมาตรฐาน เกณฑ์ วิธีการเกี่ยวกับการปฏิบัติการของหน่วยปฏิบัติการแพทย์และหน่วยปฏิบัติการอำนวยการที่สอดคล้องกับภารกิจหรือความเหมาะสมกับกรมประมง โดยบันทึกความร่วมมือฉบับนี้ จะมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ลงนามเป็นต้นไป

“หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกองค์ความรู้ ทุกประสบการณ์และการฝึกฝนที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือในครั้งนี้ จะเพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตหรือความพิการ และเพิ่มอัตราการรอดชีวิต ถือเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของกรมประมงที่ต้องการให้ทุกภารกิจของกรมเกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนอย่างสูงสุด” อธิบดีกรมประมง กล่าว