กรมบังคับคดีแจ้งความคืบหน้าการเสนอแก้ไขร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ …) พ.ศ. …. (กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้)

กรมบังคับคดีแจงความคืบหน้าเกี่ยวกับการแก้ไขพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ในส่วนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เตรียมเสนอ ครม. พิจารณา ก่อนเข้ารัฐสภา เพื่อออกเป็นกฎหมาย โดยมีเจตนารมณ์ในการช่วยลูกหนี้ในหลายกลุ่มให้สามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการฯ เพื่อแก้ไขปัญหาการชำระหนี้ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์วิกฤตที่ผ่านมา เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ อันเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล ที่ได้ประกาศเป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน ในมิติด้านการปรับปรุงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรม เพื่อเอื้อให้เกิดการแก้ไขปัญหาหนี้สิน และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เห็นความสำคัญของการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว พร้อมผลักดันเร่งรัดการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูกิจการของ SMEs ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว​​

นางทัศนีย์ เปาอินทร์ อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยว่า ขณะนี้ ร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย(ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้) ได้ผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และกระทรวงยุติธรรมได้ยืนยันร่างกฎหมายแล้ว และได้นำเสนอให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) นำบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของ ครม. คาดว่าน่าจะเข้าสู่การพิจารณาได้ในเร็ว ๆ นี้ และจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภา เพื่อออกเป็นกฎหมายและบังคับใช้ต่อไป

สำหรับการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว มีหลักการสำคัญเพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มลูกหนี้ที่มีลักษณะเป็นกิจการขนาดย่อมสามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้เช่นเดียวกันกับการฟื้นฟูกิจการขนาดใหญ่ โดยมีกระบวนการที่ไม่ซับซ้อนและมีความรวดเร็วมากกว่าเดิม โดยมีเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามามีส่วนร่วมให้คำแนะนำ หรือให้การช่วยเหลือลูกหนี้ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ อันจะทำให้กระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังได้แก้ไขเพิ่มเติมกระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แบบเร่งรัด เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ลูกหนี้ที่มีลักษณะเป็นกิจการขนาดใหญ่ และหรือขนาดย่อม สามารถทำความตกลงกับ บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายนอกศาล และนำความตกลงนั้นเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว และประหยัด และเกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ซึ่งการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลทำให้กิจการขนาดย่อมอีกหลายกิจการที่มีช่องทางในการฟื้นฟูกิจการไม่ต้องล้มละลายไปโดยไม่จำเป็น และทำให้เศรษฐกิจโดยภาพรวมสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้