รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 29 พฤษภาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 29 พฤษภาคม 2565 ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565
1.1 กรมเจ้าท่า ดำเนินการขุดลอกแม่น้ำปัว ตำบลแงง และตำบลเจดีย์ชัย อำเภอปัว จังหวัดน่าน ระยะทาง 1,550 เมตร เพื่อเพิ่มพื้นที่หน้าตัดของร่องน้ำ รองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก ลดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ทางการเกษตรและการกัดเซาะตลิ่งโดยมีประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการขุดลอก ประมาณ 550 ครัวเรือน พื้นที่ทางการเกษตรประมาณ 1,300 ไร่
1.2 กรมชลประทาน ดำเนินการกำจัดวัชพืชและผักตบชวา บริเวณคลองพระยาบันลือ หมู่ 11 ตำบลบางตาเถร อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมให้ประชาชน

2. สภาพอากาศ
การคาดการณ์สภาพอากาศ ในช่วงวันที่ 28 – 30 พ.ค. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ยทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนในช่วงวันที่ 31 พ.ค. – 1 มิ.ย. 65 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง

3. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ค. 65 ถึงปัจจุบัน)
3.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 16,490 ล้าน ลบ.ม. (35%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 14,735 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 3,158 ล้าน ลบ.ม. (21%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีอ่างเก็บน้ำที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 4 แห่ง (เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ) มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 3,752 ล้าน ลบ.ม. (21%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 4,000 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 767 ล้าน ลบ.ม. (19%)

4. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สั่งการ กอนช. ติดตามสถานการณ์พื้นที่นาข้าวใน อำเภอโนนไทย และ อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา หลังถูกน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง ทะลักเข้าท่วม โดยให้ดำเนินการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบแก่เกษตรกร พร้อมมอบหมายให้ประสานกรมชลประทานและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ สำรวจพื้นที่ในจุดที่ได้รับความเสียหาย และเร่งให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน โดยขณะนี้ได้ดำเนินการระบายน้ำตามแผนการระบายน้ำ เพื่อลดระดับน้ำอย่างเร่งด่วน และเข้าช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้นแล้ว