กอนช. เตรียมพร้อมรับมือฝน ปี 65 Kick Off ลงพื้นที่ซ้อมแผนเผชิญเหตุ จ.สุราษฎร์ธานี

กอนช. พร้อมรับมือฤดูฝน ปี 65 ลงพื้นที่ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุรับมือสถานการณ์อุทกภัย Kick Off จ.สุราษฎร์ธานีเตรียมจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย ให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค ย้ำข้อสั่งการ “พลเอก ประวิตร” ให้ทุกหน่วยงานพร้อมรับสถานการณ์ ลดผลกระทบและให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

วันที่27 พ.ค. 65 นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุรับมือสถานการณ์อุทกภัย มาตรการที่ 10 และมาตรการที่ 11 ตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 จ.สุราษฎร์ธานี โดยมี นายวรัตม์ มาประณีต ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สทนช. พร้อมด้วย ผู้แทนกรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรมประชาสัมพันธ์ และหน่วยทหาร เข้าร่วม

รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวว่าจากการวิเคราะห์และคาดการณ์สถานการณ์ฝนปีนี้ กอนช. ได้ประเมินแล้วว่าในหลายพื้นที่จะมีปริมาณฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ และมีหลายพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัย กอนช. จึงได้กำหนด 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 65 โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. มีความเป็นห่วงประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบ

จึงได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมรับมือ “วิกฤติน้ำ” ที่ต้องบูรณาการทุกหน่วยงาน ตั้งแต่การป้องกันก่อนเกิดภัย การดำเนินการขณะเกิดภัย ทั้งการวางแผนและจัดสรรน้ำอย่างเหมาะสม การวิเคราะห์คาดการณ์ที่แม่นยำ ทันต่อเหตุการณ์ เพื่อแก้ไขและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน และการช่วยเหลือเยียวยาภายหลังประสบภัย ภายใต้กลไกของ “ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ” ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เชื่อมโยงกับการรับมือสาธารณภัยด้านน้ำ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยในฤดูฝนปีนี้ จึงได้กำหนดให้มีการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการบริหารจัดการน้ำและเผชิญเหตุ ทั้งในส่วนกลางและหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ได้ร่วมซักซ้อมการปฏิบัติตามมาตรการ ให้สามารถติดตามประเมิน และคาดการณ์สถานการณ์น้ำ พร้อมแจ้งเตือน รวมถึงการบริหารจัดการน้ำ การให้ความช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบให้มีความเป็นเอกภาพ ทันต่อสถานการณ์ รวมทั้งจะเกิดประโยชน์ร่วมกันในการปฏิบัติงาน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์การปฏิบัติงานของหน่วยงานเครือข่ายด้วย

“พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับและเน้นย้ำทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมการปฏิบัติงานเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมและผลกระทบกับประชาชนให้เห็นผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะมาตรการที่ 10 การซักซ้อมความพร้อมแผนเผชิญเหตุ และมาตรการที่ 11 ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย ที่จะต้องมีการซักซ้อมความพร้อมของแผนเผชิญเหตุ และการเตรียมสถานที่รองรับการอพยพ หากมีการเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่นจากความสำเร็จการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ ที่ จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อต้นปีที่ผ่านมาที่เป็นการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ สามารถรับมือสถานการณ์อุทกภัยและเข้าช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที จึงเป็นต้นแบบขยายผลการดำเนินการเพื่อรองรับสถานการณ์วิกฤติในแต่ละพื้นที่” รองเลขาธิการ สทนช. กล่าว

สำหรับรูปแบบการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุรับมือสถานการณ์อุทกภัยในครั้งนี้ เป็นการฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะ (Table Top Exercise : TTX) และจำลองสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี มีขั้นตอนในการจำลองการจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย และการใช้กลไกการปฏิบัติตามโครงสร้างของศูนย์ส่วนหน้า รวมทั้งการเตรียมความพร้อมทั้งเครื่องจักรเครื่องมือ แผนเผชิญเหตุ โดยแบ่งการทำงานเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มคาดการณ์สภาพอากาศ กลุ่มประเมินสถานการณ์น้ำและบริหารจัดการน้ำ กลุ่มแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ และกลุ่มปฏิบัติการและเผชิญเหตุ โดยหลังจากนี้ กอนช. จะลงพื้นที่ฝึกซ้อมแผนเผชิญอีก 3 ครั้ง เพื่อให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ที่ จ.พิษณุโลก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.อุบลราชธานี และภาคกลาง ที่ จ. ชัยนาท

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
27 พฤษภาคม 2565