บวกต่อ!! จุรินทร์ ฝ่า 3 วิกฤตซ้อน “ดันส่งออกของไทยยังบวกได้ร่วม 10% มูลค่า 782,146 ล้านบาท ทำให้ส่งออก 4 เดือนแรกปี 65 เป็น +13.7%

บวกต่อ!! จุรินทร์ ฝ่า 3 วิกฤตซ้อน “ดันส่งออกของไทยยังบวกได้ร่วม 10% มูลค่า 782,146 ล้านบาท ทำให้ส่งออก 4 เดือนแรกปี 65 เป็น +13.7% ทำเงินเข้าประเทศ 3.183 ล้านล้านบาท

วันที่ 27 พฤษภาคม 2565 เวลา 10.45 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวภาวะการค้าระหว่างประเทศระหว่างประเทศและการค้าชายแดนและผ่านแดน เดือนเมษายน 2565 พร้อมด้วยนายกีรติ รัชโน รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์ ที่ห้องบุรฉัตรไชยากร ชั้น 4 ตึกสำนักงานปลัด กระทรวงพาณิชย์

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกเดือนเมษายน 65 แม้เจอหลายวิกฤตซ้อนกันทั้งโควิด เศรษฐกิจ สงครามการค้า และรัสเซีย-ยูเครน แต่การส่งออกของไทยยังเป็นบวก 9.9% หรือประมาณ +10% คิดเป็นมูลค่า 782,146 ล้านบาท ทำให้การส่งออก 4 เดือน ม.ค.-เม.ย. 65 +13.7% มูลค่า 3,183,591 ล้านบาท หรือ 3.183 ล้านล้านบาท สินค้าสำคัญ 3 หมวดสินค้าเกษตร สินค้าเกษตรแปรรูป และสินค้าอุตสาหกรรม สำหรับสินค้าเกษตร เม.ย.65+ 3% ขยายตัว 2 เดือนต่อเนื่อง มูลค่า 83,396 ล้านบาท

สินค้าที่ขยายตัวสูง เดือน เม.ย.65 ได้แก่ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง +49.5% มูลค่า 16,742 ล้านบาท โดยเฉพาะ การขยายในตลาดจีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซียไต้หวันและสหรัฐอเมริกา ข้าว +44% มูลค่า 9,978 ล้านบาท ขยายตัวดีในตลาดสหรัฐ อิรัก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จีน เซเนกัลและโมซัมบิก โดยข้าวหอมมะลิเดือนเม.ย.เป็นบวกถึง 102.3% ข้าวนึ่ง + 45.3% ปลายข้าว +27.9% ข้าวขาว +14.5% ข้าวเหนียว +11.9% แนวโน้มการส่งข้าวปีนี้คิดว่าจะเกินเป้าที่กำหนดไว้ ปีที่แล้วส่งออก 6.1 ล้านตัน ปีนี้แนวโน้มจะส่งออกได้ 7-8 ล้านตัน เงาะสด +240% มังคุดสด +95.8% มะม่วงสด +14% เป็นต้น

สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เม.ย.65 +22.8% คิดเป็น 64,374 ล้านบาท น้ำตาลทราย +87.9% มูลค่า 8,497 ล้านบาท อาหารสัตว์เลี้ยงขยายตัวดีต่อเนื่อง 32 เดือน +24.7% มูลค่า 7,863 ล้านบาท อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป +8.9% มูลค่า 10,697 ล้านบาท

สินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 14 เดือนต่อเนื่อง เม.ย.65 +8.3% มูลค่า 597,288 ล้านบาท เช่น ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม +17 เดือนต่อเนื่อง เม.ย.65+53.2% มูลค่า 9,474 ล้านบาท อัญมณีและเครื่องประดับ +14 เดือนต่อเนื่อง เม.ย. +48.5% มูลค่า 21,557 ล้านบาท เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ +17 เดือนต่อเนื่อง เม.ย. +25.6% มูลค่า 21,132 ล้านบาท และแผงวงจรไฟฟ้า +17 เดือนต่อเนื่อง เม.ย.+15.3% ทำเงินเข้าประเทศ 24,411 ล้านบาท

โดยตลาดที่ขยายตัวสูง 10 อันดับแรก ได้แก่

1. สวิตเซอร์แลนด์ (+392.2%)

2. เอเชียใต้ (+33.9%)

3. อาเซียน(5) (+26.9%)

4. ตะวันออกกลาง (+25.4%)

5. แคนาดา (+22.5%)

6. ไต้หวัน (+19.3%)

7. แอฟริกา (+14.9%)

8. สหรัฐฯ (+13.6%)

9. เกาหลีใต้ (+11.5%)

10. ฮ่องกง (+10.6%)

ปัจจัยที่เป็นบวกสำหรับการส่งออกในเดือนเมษายนและในอนาคตมีหลายปัจจัย เช่น

ประการที่หนึ่ง การเร่งรัดการส่งเสริมการส่งออกข้าวโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ทูตพาณิชย์ได้มีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้ซื้อจากต่างประเทศ โดยเฉพาะร้านอาหารไทยในต่างประเทศให้หันมาใช้ข้าวหอมมะลิมากขึ้น และข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ได้รับเครื่องหมาย GI ของสหภาพยุโรปกลายเป็นจุดขายสำคัญ และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเร่งรัดการเจรจาส่งออกข้าวเป็นกำลังเสริมสำคัญหนุนการส่งออก

ประการที่สอง การขยายความร่วมมือกับตลาดใหม่ เช่น ภูฏานมุ่งเน้นสมุนไพรไทยและยาแผนโบราณ

ประการที่สาม การลงนาม Mini-FTA เช่น กับอินเดีย รัฐเตลังคานา กับจีนมณฑลไห่หนานและกานซู่ มีผลในการกระตุ้นการส่งออกในอนาคตได้

ประการที่สี่ การประชุม JTC ไทย-เวียดนาม ล่าสุดที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ช่วยให้การส่งผลไม้ผ่านแดนจากเวียดนามไปจีนคล่องตัวขึ้นในอนาคต และขอให้เวียดนามยกเลิกระงับทฝการนำเข้าไก่ เงาะและมะม่วง ถ้าสำเร็จจะช่วยเสริมตัวเลขส่งออกได้มากขึ้น รวมทั้งการส่งเสริมการค้าในแพลตฟอร์มออนไลน์ในตลาดเวียดนาม

ประการที่ห้า การเจรจาระดับทวิภาคีเพื่อการส่งออกเช่น กับเปรูและฮ่องกง ที่จะช่วยนำเข้าข้าวพรีเมี่ยมจากไทยมากขึ้น กับเวียดนามมองโกเลีย จะเป็นปัจจัยบวกสำคัญสำหรับการส่งออกในอนาคต

ประการที่หก การส่งเสริมการส่งออกผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์รวมทั้งทำOBM จับคู่ธุรกิจออนไลน์ จะมีส่วนสำคัญด้านตัวเลขการส่งออกและจะทำต่อเนื่อง

ประการที่เจ็ด ภาคการผลิตโลกในภาพรวมยังขยายตัว ดัชนี PMI (Purchasing Managers Index หรือ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ )ยังอยู่ในระดับเหนือ 50 ต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 22 ถือเป็นสัญญาณบวกที่จะนำเข้าสินค้าจากไทย เพื่อใช้ในการผลิตมากขึ้น

ประการที่แปด ค่าเงินบาทยังอ่อนค่า มีส่วนช่วยเสริมให้ตัวเลขการส่งออกดีขึ้น

และการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตัวเลขส่งออก โดยสำหรับ 4 เดือนแรก ม.ค.-เม.ย.65 การส่งออกภาพรวม 313,882 ล้านบาท ติดลบ 0.04% แต่เป้าของการส่งออกผ่านการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนตั้งเป้าเป็นบวกที่ 5% จะทำตัวเลขให้ได้ 1,082,897 ล้านบาท ซึ่ง 4 เดือนแรกของปีนี้ทำได้แล้ว 313,882 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 30%ยังเหลือเวลาอีก 8 เดือน จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะทำได้ตามเป้า

ภาพรวมการค้าชายแดน ยังถือเป็นบวก ในเกือบทุกประเทศ เฉพาะเดือน เม.ย.กัมพูชา +31.36% เมียนมา +16% สปป.ลาว +5.77% ภาพรวม 4 เดือนแรก ม.ค.-เม.ย.65 +17.5% สำหรับการค้าชายแดน

แต่ภาพการค้าชายแดนรวมเวียดนามกับจีน ตัวเลขติดลบ เฉพาะเดือน เม.ย.ส่งออกไปจีนการค้าผ่านแดนทางบก -45% เวียดนาม -24.73% เพราะเวลาส่งสินค้าไปจีนต้องผ่านเวียดนามจึงติดลบไปด้วยกัน เพราะเราหันไปส่งออกทางเรือและทางอากาศมากขึ้น การส่งออกทางบกลดลง เนื่องจากนโยบายซีโร่โควิดของจีนและการปิดด่านเพราะโควิดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถแก้ปัญหาได้ดีทั้งเชิงรุกและเชิงลึก ตามนโยบายที่ตนมอบ ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนเส้นทางจากการส่งออกทางบกไปทางเรือและทางอากาศแทน

ทำให้ตัวเลขการส่งออกสินค้าตั้งแต่ ม.ค.-เม.ย.65 ภาพรวมเป็นบวก 13.7% นำเงินเข้าประเทศ 3.183 ล้านล้านบาท เช่น การส่งออกผลไม้ไปจีน แก้ปัญหาเชิงรุกและเชิงลึกรวดเร็ว การส่งผลไม้ไปจีนทางบก เดิมส่งทางบก 48% เดือน เม.ย. ลดเหลือ 27.5% ทำให้ตัวเลขการค้าข้ามแดนไปจีนลดลง แต่เราไปเพิ่มทางเรือจากเดิม 52% เป็น 68% และทางอากาศจาก 0.5% เพิ่มเป็น 4.6% ทำให้ตัวเลขการส่งออกเดือนเมษายนยังเป็นบวกได้ต่อเนื่อง

จากนั้นผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงประเด็น Food protectionism ที่มีหลายประเทศมีปัญหาอยู่ขณะนี้ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่าสำหรับประเทศไทยยังไม่ได้เป็นปัญหา เนื่องจากสิ่งที่ประเทศต้นทางส่งออกไม่ใช่สินค้าที่เรานำเข้าในปริมาณที่มากนัก ไม่มีนัยยะสำคัญ แต่ในขณะเดียวกันที่บางประเทศไม่สามารถส่งออกอาหารได้จากการเกิด food protectionism จะส่งผลดีกับประเทศไทย ที่เป็น hub of kitchen ทำให้เราส่งออกไปยังประเทศคู่ค้า ที่คู่แข่งจากประเทศอื่นประสบปัญหาส่งออกไม่ได้

จากนั้นผู้สื่อข่าวถามว่าการส่งออกข้าวของอินเดียและเวียดนามมีแนวโน้มที่จะลดลง ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะลดลงตามไหม นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการประเมิน สินค้าแต่ละตัวว่ามีสินค้าตัวไหนบ้างที่จะต้องลงไปจับตามอง ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ แต่ในภาพรวมยังไม่มีสินค้าตัวไหนที่น่าเป็นห่วงหรือเป็นปัญหา แต่หากจะมองลึกลงไปในแต่ละชนิดย่อย เป็นเรื่องของแต่ละกระทรวงที่ต้องเข้าไปดูในรายละเอียด เช่นกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้อง