กรมฝนหลวงฯ เติมน้ำเข้าเขื่อนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ขอรับบริการฝนหลวง เพื่อรองรับระยะฝนทิ้งช่วง

วันที่ 27 พฤษภาคม 2565 นายสำเริง แสงภู่วงค์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้เตรียมแผนการปฏิบัติการฝนหลวง ภารกิจการเติมน้ำเข้าเขื่อนเก็บกักน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีการขอรับบริการฝนหลวงอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ เขื่อนน้ำพุง เขื่อนลำปาว เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนน้ำอูน โดยเขื่อนเหล่านี้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในพื้นที่จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ นครพนม กาฬสินธุ์ ขอนแก่น สกลนคร อุดรธานี มุกดาหาร เลย ขอนแก่น หนองบัวลำภู และจังหวัดเลย มีความจำเป็นต้องใช้น้ำจากเขื่อนดังกล่าวหล่อเลี้ยงผลผลิต

ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนผู้ขอรับบริการฝนหลวงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีมากกว่า 50 แห่ง แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะมีปริมาณน้ำฝนจากพายุที่เกิดขึ้นในประเทศไทยก็ตาม และจากผลการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ครั้งที่ 20/2565 เมื่อวันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม 2565 กรมชลประทาน รายงานว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ (35 แห่ง) ปัจจุบันปริมาณน้ำทั้งประเทศ รวม 39,512 ล้าน ลบ.ม. และสามารถนำมาใช้ได้ 15,970 ล้าน ลบ.ม.

โดยวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 พบว่าเขื่อนขนาดใหญ่ ที่มีปริมาณน้ำใช้การ น้อยกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 30 มีจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา และเขื่อนขุนด่านปราการชล และที่ประชุมยืนยันให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนขนาดใหญ่รวม 9 แห่ง ดังนี้ ภาคเหนือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนน้ำอูน เขื่อนลำปาว ภาคกลาง อ่างเก็บน้ำทับเสลา ภาคตะวันออก อ่างเก็บน้ำคลองสียัด ซึ่งทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะติดตามสภาพอากาศเป็นประจำทุกวัน เพื่อวางแผนช่วยเหลือพื้นที่ดังกล่าว และจะหลีกเลี่ยงไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ที่กำลังเพาะปลูกหรือมีปริมาณน้ำเพียงพอแล้ว

ทั้งนี้ ผลปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2565 ปฏิบัติการไปแล้วรวม 63 วัน รวม 602 เที่ยวบิน ทำให้มีฝนตกจากการปฏิบัติการ รวม 62 วัน มีจังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 37 จังหวัด มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง 83.7 ล้านไร่ และทำให้มีฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวม 11 แห่ง ปริมาณน้ำ รวม 24.3 ล้านลูกบาศก์เมตร