ป.ป.ช. ร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบเปิดโต๊ะแถลงผลงานในรอบปีหวังดึงทุกภาคส่วนสร้างสังคมสุจริต

วันที่ 27 พฤษภาคม 2565 เวลา 09.30 น.  ณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ   นายภูเทพ  ทวีโชติธนากุล  ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.  ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ร่วมแถลงข่าว เรื่อง “การดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ในรอบปีที่ผ่านมา” โดยมีศาสตราจารย์ (พิเศษ) ภักดี โพธิศิริ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นประธานการแถลงข่าว

พร้อมกรรมการและผู้แทนหน่วยงานประกอบด้วย ดร.มานะ นิมิตรมงคล กรรมการปฏิรูปประเทศ  พลอากาศเอก วีรวิท  คงศักดิ์  กรรมการปฏิรูปประเทศ  นายปฏิภาณ จุมผา รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) ผู้แทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) นายสิน  สื่อสวน ผู้แทนภาคประชาชน  และนายกฤษณ์  กระแสเวส  ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.)  โดยเป็นการแถลงผลงาน  ตามแผนปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ในประเด็น 5 ด้าน ได้แก่

กิจกรรมปฏิรูปที่ 1  การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริต

กิจกรรมปฏิรูปที่ 2  การพัฒนาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและระบบคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส  การทุจริตที่มีประสิทธิภาพ

กิจกรรมปฏิรูปที่ 3  การพัฒนากระบวนการยุติธรรมที่รวดเร็ว โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ ในการดำเนินคดีทุจริตทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

กิจกรรมปฏิรูปที่ 4  การพัฒนาระบบราชการไทยให้โปร่งใสไร้ผลประโยชน์

กิจกรรมปฏิรูปที่ 5  การพัฒนามาตรการสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบายในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่

สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีในคราวการประชุมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) และเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) กิจกรรมปฏิรูปประเทศที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) มี 2 กิจกรรมปฏิรูป  ที่เกี่ยวข้องกับสำนักงาน ป.ป.ช. ได้แก่ กิจกรรมปฏิรูปที่ 2 การพัฒนาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและระบบคุ้มครอง   ผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ และกิจกรรมปฏิรูปที่ 3 การพัฒนากระบวนการยุติธรรมที่รวดเร็ว โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติในการดำเนินคดีทุจริตทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และในส่วนของข้อเสนอ ในการมีหรือแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย จำนวน 3 เรื่อง โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้

กิจกรรมปฏิรูปที่ 2 การพัฒนาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและระบบคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ

1) การพัฒนาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารโดยการผลักดันการออกกฎหมายข้อมูลสาธารณะเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องร้องขอและผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐต้องเปิดเผยข้อมูล     ในครอบครองผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม 

(1) มีการผลักดันการออกกฎหมายข้อมูลสาธารณะที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายโดยไม่ต้อง   ร้องขอ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงง่าย ทั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้ร่วมให้ข้อเสนอแนะและความเห็นต่อสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 59 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางราชการหรือข่าวสารสาธารณะได้โดยสะดวก ซึ่งจะช่วยให้การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  และประสิทธิผล

(2) การผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐเปิดเผยข้อมูลอย่างครบถ้วนบนระบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม  เพื่อประชาชนและสื่อมวลชนสามารถเข้าดูและตรวจสอบได้ง่ายทางอินเตอร์เน็ต หน่วยงานที่ร่วมดำเนินการขับเคลื่อนกิจกรรมดังกล่าว มี 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) โดยได้ดำเนินการแล้วเสร็จดังนี้

– สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล/พัฒนากลไกการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการ และจัดการเรื่องร้องเรียนและอุทธรณ์ด้วยระบบดิจิทัล (e-Complaint and Appeal)

–  สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ได้มีการดำเนินการ

(1) จัดทำศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐและส่งเสริมการเปิดเผยและใช้ประโยชน์จากข้อมูล

(2) การพัฒนาเครื่องมือเพื่อสนับสนุนการจัดเตรียมข้อมูลภาครัฐในรูปแบบดิจิทัลให้มีคุณภาพตามหลักธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Management Tool for Data Governance)

(3) การจัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการสร้างนวัตกรรมการใช้ข้อมูลเพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำชุดข้อมูลเปิดไปใช้ประโยชน์

(4) การให้บริการศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Data Platform) บนเว็บไซต์ data.go.th โดยมีชุดข้อมูลสำคัญที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ประเทศ

ทั้ง 6 ด้านสำคัญ  ซึ่งปัจจุบันมีชุดข้อมูลเปิดบนระบบแล้วกว่า 7,642 ชุดข้อมูล มีผู้ใช้บริการสะสม 2,221,938 คน และมีการใช้บริการเว็บไซต์แล้วถึง 8,493,555 ครั้ง (5) การจัดทำระบบภาษีไปไหน (Thailand Government Spending) ซึ่งมีการเปิดเผยโครงการจัดซื้อจัดจ้าง/การจัดสรรงบประมาณของภาครัฐ ในปี พ.ศ. 2564 – 2565 แล้วกว่า 5.56 ล้านโครงการ มูลค่ารวมกว่า 1,439 ล้านบาท

สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) จำเป็นต้องมีการพัฒนาเครื่องมือในการสืบค้นชุดบัญชีข้อมูลเพื่อดึงชุดข้อมูลเปิดมาให้บริการบนศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Data Platform) อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) จะดำเนินกิจกรรมทั้ง 4 กิจกรรม คือ

1) การพัฒนาเครื่องมือเพื่อสนับสนุนการประเมินคุณภาพข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลให้มีคุณภาพตามหลักธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Assessment Tool for Data Governance)

2) การพัฒนาเครื่องมือในการสืบค้นชุดบัญชีข้อมูลเพื่อดึงชุดข้อมูลเปิดมาให้บริการบนศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Data Platform) อย่างต่อเนื่อง

3) การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรการจัดการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Data)

4) การขับเคลื่อน   ให้เกิดข้อมูลเปิดบนศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Data Driven – Dataset) ผ่านการเผยแพร่ผ่าน data.go.th ต่อหลังปี พ.ศ. 2565

2) การพัฒนาช่องทางการแจ้งเบาะแสและข้อมูลเชิงลึกในรูปแบบที่หลากหลายและมีระบบปกปิดตัวตนที่มีประสิทธิภาพ และการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสอย่างครบวงจร ให้ผู้แจ้งเบาะแสสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก มีความเชื่อมั่นในเรื่องการเก็บรักษาความลับและความปลอดภัย ตลอดจนการจัดทำระบบให้มีการแจ้งผลการติดตามให้กับผู้ร้องเรียนหรือผู้แจ้งเบาะแสได้รับทราบ

ในส่วนการของการพัฒนาช่องทางการแจ้งเบาะแสฯ ได้มีการดำเนินการ

(1) พัฒนาช่องทางการแจ้งเบาะแสและข้อมูลเชิงลึกในรูปแบบที่หลากหลาย

(2) จัดทำระบบปกปิดตัวตนเพื่อให้ผู้แจ้งเบาะแสเข้าถึงได้โดยสะดวกมีความเชื่อมั่นในเรื่องการเก็บรักษาความลับ และความปลอดภัย มีการดำเนินการกำหนดรูปแบบ วิธีการปกปิดตัวตนและวิธียืนยันตัวตนกรณีผู้แจ้งเบาะแสขอรับการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสผ่านระบบ  ปรับปรุงระบบรับแจ้งเบาะแสทางเว็บไซต์  ให้รองรับการปกปิดตัวตนการแจ้งเบาะแส โดยระบบจะไม่เก็บข้อมูล IP Address และข้อมูลส่วนบุคคลของผู้แจ้งที่จะสามารถย้อนรอยไปถึงตัวตนผู้แจ้งเบาะแสได้ รองรับการติดตามผลการแจ้งเบาะแสและการขอรับการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสผ่านระบบ  พัฒนาระบบบริหารจัดการผู้แจ้งเบาะแส (Whistleblower Management System : WMS) ให้รองรับการแจ้งเบาะแสผ่านพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ผู้แจ้งเบาะแสรู้จักหรือไว้ใจ มีระบบบริหารจัดการข้อมูลเบาะแสที่ได้รับแจ้งจากช่องทางต่าง ๆ การออกรายงาน

รวมไปถึงสถานะการร้องขอคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส/สถานะการดำเนินการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส   (ในเบื้องต้น รองรับการบริหารจัดการข้อมูลเบาะแสที่มีการแจ้งผ่านระบบ WMS และระบบแจ้งเบาะแสทางเว็บไซต์)  ทั้ง 2 ระบบ รองรับการแจ้งเบาะแสแบบปกปิดตัวตนและแบบเปิดเผยตัวตน โดยระบบการแจ้งเบาะแสแบบเปิดเผยตัวตน (บันทึกข้อมูลส่วนบุคคลของผู้แจ้งเบาะแส) และยังคงมีการปกปิดตัวตน ตาม พรบ.ป.ป.ช. มาตรา 36 ประกอบระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ข้อ 21 อย่างเคร่งครัด โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบบริหารจัดการผู้แจ้งเบาะแส และปรับปรุงระบบรับแจ้งเบาะแสทางเว็บไซต์

3) การบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองพยานและผู้แจ้งเบาะแส รวมถึงการให้ค่าตอบแทน (ระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการคุ้มครองช่วยเหลือพยาน พ.ศ. 2562) ให้มีผลในทางปฏิบัติ  อย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าวในวงกว้าง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและการมีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสจากภาคประชาชน  มีการดำเนินการดังนี้

(1) การบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองพยาน ผู้แจ้งเบาะแส รวมถึงการให้ค่าตอบแทนและชดเชยค่าใช้จ่ายให้กับผู้แจ้งเบาะแส รวมถึงมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

(2) การพัฒนาระบบเปิดเผยเรื่องร้องเรียนและคดี (เรื่องที่อยู่ระหว่างไต่สวน) และ

(3) การพัฒนาระบบติดตามการดำเนินงานเรื่องร้องเรียนและคดีที่สำนักงาน ป.ป.ช.รับไว้ดำเนินการ โดยการพัฒนาระบบเปิดเผยเรื่องร้องเรียนและคดี (เรื่องที่อยู่ระหว่างไต่สวน) ได้ดำเนินการพัฒนาระบบแล้วเสร็จพร้อมเปิดใช้งาน ปัจจุบันยังไม่ได้เปิดใช้งานเนื่องจากอยู่ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากฎระเบียบ  ที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะเปิดใช้งานต่อไป สำหรับการพัฒนาระบบติดตามการดำเนินงานเรื่องร้องเรียนและคดี ที่สำนักงาน ป.ป.ช.รับไว้ดำเนินการ ได้พัฒนาระบบในการรับเรื่องร้องเรียนและคดีให้ผู้ร้องสามารถติดตาม ความคืบหน้าในการดำเนินงานเรื่องร้องเรียนและคดีเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยผู้ร้องเรียน สามารถติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานเรื่องร้องเรียนและคดีได้ผ่านหน้าเว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ช. www.nacc.go.th) ซึ่งผู้ร้องเรียนจะต้องลงทะเบียนในหน้าเว็บไซต์สำนักงาน เพื่อเป็นสมาชิกก่อน กรณีต้องการแจ้งความคิดเห็น ให้สำนักงาน ป.ป.ช. ทราบ สามารถส่งข้อความทางช่องทาง “กระดานสนทนา (Webboard)”

(4) การจัดทำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการฟ้องปิดปาก (Anti-SLAPP Law) เพื่อห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐและหัวหน้าหน่วยงานของรัฐฟ้องร้องดำเนินคดีกับบุคคลที่แสดงความเห็นหรือเปิดโปงเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบเพื่อปกป้องคนที่ออกมาเปิดโปงหรือแสดงความเห็นโดยสุจริตต่อการทุจริต  คอร์รัปชันและเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมเป็นหูเป็นตาไม่ให้ใครฉ้อราษฎร์บังหลวง

(5) สร้างการรับรู้เกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ในวงกว้าง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและสร้างการมีส่วนร่วม   ของประชาชน โดยการดำเนินการผลิตสื่อเกี่ยวกับการแจ้งเบาะแส การคุ้มครองช่วยเหลือพยานและผู้แจ้งเบาะแส เช่น  คำแนะนำการร้องเรียน  ช่องทางการร้องเรียน/แจ้งเบาะแส รวมทั้งมาตรการคุ้มครองพยาน  และการกันบุคคลเป็นพยาน

โดยนำข้อมูลดังกล่าวมาจัดทำในรูปแบบต่าง ๆ ที่น่าสนใจและเข้าใจง่ายเป็นระยะ เช่น ข่าว บทความ บทสัมภาษณ์ อินโฟกราฟฟิก ฯลฯ เผยแพร่ผ่านช่องทางการสื่อสารภายในและภายนอก ได้แก่ ผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงาน ป.ป.ช. การแถลงข่าว การส่งข่าวให้สื่อมวลชนช่วยเผยแพร่ ทาง Facebook สำนักงาน ป.ป.ช. ไลน์บัญชีทางการ ชื่อ สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นต้น ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินการผลิตและเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวผ่านช่องทางการสื่อสารภายในและภายนอก เพื่อสร้างการรับรู้ ความเชื่อมั่นในเรื่องการเก็บรักษาความลับและความปลอดภัย ตลอดจนการแจ้งผลการติดตามให้กับผู้ร้องเรียนหรือผู้แจ้งเบาะแสได้รับทราบ และกล้าที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสจากภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง

กิจกรรมปฏิรูปที่ 3 การพัฒนากระบวนการยุติธรรมที่รวดเร็ว โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ ในการดำเนินคดีทุจริต ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน

การขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูปประเทศฯ มีดังนี้

1) การเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับรู้ถึงขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุน     การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนตั้งแต่ในกระบวนการออกกฎหมายทุกระดับและการเฝ้าระวังการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอนควบคู่กับการสร้างการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม     แก่ประชาชนตลอดจนกำหนดบทลงโทษกับหน่วยงานและหัวหน้าหน่วยงานที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึง ในกระบวนการยุติธรรมได้ มีกิจกรรมดังนี้

 (1) การประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้ประชาชนรับรู้ถึงขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม สร้างการมีส่วนร่วม ให้มากขึ้น และสนับสนุนให้มีการใช้มาตรการลงโทษทางสังคม (Social Sanction) โดยได้มีการดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ได้ดำเนินการผลิตและเผยแพร่ข้อมูลขั้นตอนกระบวนการในภารกิจของสำนักงาน ป.ป.ช. โดยนำข้อมูลดังกล่าวมาจัดทำในรูปแบบต่าง ๆ ที่น่าสนใจ และเข้าใจง่าย  และเพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ถึงการดำเนินคดีทุจริตมีความรวดเร็ว เป็นธรรม โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ และเกิดความเชื่อมั่นในกระบวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างต่อเนื่อง จึงมีการดำเนินการผลิตและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอน กระบวนงานในภารกิจของสำนักงาน ป.ป.ช. ผลการชี้มูล และผลคำพิพากษา ผ่านช่องทางการสื่อสารภายในและภายนอก เช่น ในเว็บไซต์ ป.ป.ช. และสื่อมวลชนให้ความสนใจเข้ามาดูข้อมูลและนำไปขยายผลเผยแพร่ต่อ  นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุน ป.ป.ช. ให้ภาคเอกชน  ได้จัดทำโครงการที่เกี่ยวกับการผลิตสื่อเผยแพร่คดีทุจริตให้สาธารณชนรับรู้ เช่น ตัวอย่างคดีและการลงโทษ ผู้ที่กระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบ

(2) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาชนตั้งแต่กระบวนการออกกฎหมายทุกระดับ และการเฝ้าระวังการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอน โดยการดำเนินงานของชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริตภายใต้โครงการ STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริตตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560 – 2564)

การดำเนินการที่สำคัญของโครงการ STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริต คือการส่งเสริมให้ประชาชนมีวัฒนธรรม ค่านิยมสุจริต มีทัศนคติและพฤติกรรมในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งนี้ ผลจากการดำเนินการผลักดันมาตรการหรือแนวทางต่าง ๆ ดังกล่าวมีทั้งกรณีที่มีหลักฐานข้อมูลเพียงพอที่จะแจ้ง เรื่องต่อสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย และกรณีที่ส่งต่อเรื่องให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริต สามารถขยายผลการทำงานด้วยตนเองภายใต้การดูแลของสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัด โดยการขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุน ป.ป.ช. ได้มากถึง 45 จังหวัด ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้กำหนดแผนยกระดับการดำเนินงานของชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริตทั่วประเทศ ด้วยการพัฒนา “ศูนย์การเรียนรู้ STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริตประจำจังหวัด (STRONG Anti-Corruption Learning Center)” เพื่อเป็นพื้นที่แสดงผลงาน เผยแพร่ความรู้ และสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป ในกลุ่มสมาชิกชมรมฯ รวมทั้งมีแนวทางที่จะยกระดับสมาชิกชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริต กลุ่มเยาวชนในทุกจังหวัด ให้เป็น  “ชมรมเยาวชน STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริตประจำจังหวัด (STRONG Anti-Corruption Young Leaders)” เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมและเพิ่มบทบาทของภาคเยาวชนในชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริตทุกจังหวัด ให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

จากการมีส่วนร่วมแจ้งเบาะแสของภาคประชาชนชมรม STRONG –จิตพอเพียงต้านทุจริตในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ได้สะสมเป็นฐานข้อมูลทั้งในมิติด้านพื้นที่ (Area based) ด้านเวลา (Time based) และด้านกลุ่มเป้าหมาย (Target based) ซึ่งได้นำมาต่อยอดสู่การวิเคราะห์ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริต    เพื่อกำหนดลงในแผนที่ทุกอำเภอทั่วประเทศ ผ่านโครงการปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตและโครงการพัฒนาแผนที่พื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตผ่านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งเป็นสองโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และในปัจจุบัน

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินโครงการต้านและลดทุจริตด้วยกลไก  สหยุทธ์ เฉพาะกรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต (STRONG: Together Against Corruption-TAC) โดยคัดเลือกประเด็นปัญหาจากข้อมูลผลการพัฒนาแผนที่พื้นที่เสี่ยง ภาค 1-9 และกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตหลักที่พบจากแผนที่พื้นที่เสี่ยงในแต่ละภูมิภาค โดยนำมากำหนดพื้นที่เป้าหมายดำเนินกิจกรรม ตามประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริต 4 ประเด็น ได้แก่

1.การจัดซื้อจัดจ้างสาธารณูปโภคขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

2.การใช้จ่ายงบประมาณโครงการภายใต้งบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19

3.การประกอบกิจการดูดทราย และการล่วงล้ำลำน้ำ

4.การบุกรุกพื้นที่ป่า การออกเอกสารสิทธิ์ และจัดสรรที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

ในทุกขั้นตอนของการดำเนินโครงการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและกระบวนการสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ การยอมรับ และร่วมกันขับเคลื่อนผลักดันการแก้ไขปัญหาในทุกประเด็น ให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย โดยเฉพาะจะมุ่งเน้นที่ความเชื่อมโยงระหว่างงานของสำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลางกับงานในส่วนภูมิภาค ได้แก่ สำนักงาน ป.ป.ช.ภาค และสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด ซึ่งจะต้องสนับสนุนการดำเนินโครงการในทุกขั้นตอนในฐานะผู้รับผิดชอบในระดับพื้นที่ รวมทั้งเครือข่ายการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนจากชมรม STRONG -จิตพอเพียงต้านทุจริตทั่วประเทศ และหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่  ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นปัญหา ทั้งนี้ เป้าหมายสูงสุดที่จะเกิดจากการบูรณาการของทุกภาคส่วน  ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการ คือ การลดจำนวนคดีทุจริตในระดับพื้นที่ ซึ่งเมื่อดำเนินโครงการ อย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปีงบประมาณ จะส่งผลให้เกิดกระบวนการแก้ไขปัญหาครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัด   ทั่วประเทศ

(3) กำหนดบทลงโทษกับหน่วยงานและหัวหน้าหน่วยงานที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำรายงานการศึกษาการกำหนดบทลงโทษกับหน่วยงานและหัวหน้าหน่วยงานที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ จะแล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด

และในขณะเดียวกันได้ดำเนินการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อประกอบการจัดทำรายงานการศึกษาเกี่ยวกับ  เรื่อง “สิทธิของประชาชน เมื่อไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้” ซึ่งอยู่ในเป้าหมายย่อยที่ 1 (MS1)       ของกิจกรรมปฏิรูปประเทศที่ 3 (Big Rock)

(4) สำรวจความเห็นของประชาชนในการได้รับความเป็นธรรม ความพึงพอใจ และเชื่อมั่น ในกระบวนการยุติธรรม โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินโครงการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้มีส่วนได้เสีย ต่อการดำเนินงานของสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยมีผลการสำรวจความเห็นของประชาชนในการได้รับความเป็นธรรม ความพึงพอใจ และเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ดังนี้

– ความพึงพอใจต่อการดำเนินงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม  จากการสำรวจประชาชน   ทุกภาคส่วนในทั่วประเทศ มีระดับความพึงพอใจต่อการดำเนินงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ในการปราบปรามการทุจริต โดยรวม เฉลี่ยอยู่ที่ 3.86 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน หรือคิดเป็นร้อยละ 77.80 โดยมีระดับพึงพอใจในด้านความโปร่งใสมากที่สุด คือ เฉลี่ยอยู่ที่ 3.89 คะแนน รองลงมา เป็นความเที่ยงธรรมไม่เลือกปฏิบัติ (3.88 คะแนน) และความรวดเร็ว (3.81 คะแนน) ตามลำดับ

– ความพึงพอใจต่อการดำเนินงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม  จากการสำรวจประชาชน ทุกภาคส่วนในทั่วประเทศ มีระดับความพึงพอใจต่อการดำเนินงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมในการปราบปรามการทุจริต โดยรวม เฉลี่ยอยู่ที่ 3.86 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน หรือคิดเป็นร้อยละ 77.80 โดยมีระดับพึงพอใจในด้านความโปร่งใสมากที่สุด คือ เฉลี่ยอยู่ที่ 3.89 คะแนน รองลงมาเป็นความเที่ยงธรรมไม่เลือกปฏิบัติ (3.88 คะแนน) และความรวดเร็ว (3.81 คะแนน) ตามลำดับ

– ความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ประชาชนมีระดับ ความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ในการปราบปรามการทุจริตโดยรวม เฉลี่ยอยู่ที่ 3.87 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน หรือคิดเป็นร้อยละ 77.4 โดยมีระดับความเชื่อมั่นในด้าน   ความโปร่งใสมากที่สุด คือ เฉลี่ยอยู่ที่ 3.89  คะแนน รองลงมาเป็นความเที่ยงธรรมไม่เลือกปฏิบัติ (3.88 คะแนน)  และความรวดเร็ว (3.84 คะแนน) ตามลำดับ

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีการสำรวจความเห็นของประชาชน  ในการได้รับความเป็นธรรม ความพึงพอใจ และเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และมีแผนดำเนินการต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2566

2) การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรมในการดำเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งภาครัฐและภาคเอกชน  โดยส่งเสริมให้ทุกหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมดำเนินการตามกรอบเวลาของกฎหมายในมาตรฐานเดียวกัน อย่างรวดเร็วพร้อมกับบูรณาการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการยกระดับการทำงานบนฐานดิจิทัลและพัฒนาระบบฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานปราบปรามการทุจริต   ให้เข้าถึงง่าย และมีประสิทธิภาพ มีศูนย์ข้อมูลต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (Data Center)

(1) ส่งเสริมให้ทุกหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมดำเนินคดีตามกรอบเวลาของกฎหมาย ในมาตรฐานเดียวกันอย่างรวดเร็ว โดยมีการจัดทำแผนงานจัดทำมาตรฐานขนาดของคดีและระยะเวลาในการดำเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และแผนงานเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรม ในการดำเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

(2) การจัดทำการบูรณาการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตฯ การติดตาม  ผลการดำเนินคดี และยกระดับการทำงานบนฐานดิจิทัล โดยมีการประสานและบูรณาการการดำเนินงาน ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ควบคู่ไปกับการพัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูลและระบบฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานปราบปรามการทุจริต รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ

 3) การส่งเสริมการดำเนินงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมโดยยึดหลักคุณธรรม  ซื่อสัตย์ สุจริต การบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี โดยมีการจัดทำแผนงานมาตรการควบคุม กำกับ ติดตามการบริหารจัดการโดยยึดหลักคุณธรรม ซื่อสัตย์สุจริต การบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี ของหน่วยงาน  ในกระบวนการยุติธรรม โดยมีรายละเอียดดังนี้

– ประสานหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม (6 หน่วยงาน ได้แก่สํานักงานศาลยุติธรรม สํานักงานศาลปกครอง สํานักงานศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานอัยการสูงสุด สํานักงานตํารวจแห่งชาติ และสํานักงาน ป.ป.ท.) ว่าได้มีมาตรการควบคุม กํากับ ติดตามการบริหารจัดการโดยยึดหลักคุณธรรม ซื่อสัตย์สุจริตการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีหรือไม่ อย่างไร และได้รับข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน ว่ามีมาตรการที่สำคัญๆ ดังนี้

1. สำนักงานศาลยุติธรรม เช่น การเปิดทำการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง รวมทั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีโดยใช้ระบบไต่สวน และเป็นไปโดยรวดเร็ว รวมถึงมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ศาลยุติธรรม พ.ศ. 2561 – 2564 นอกจากนี้ ได้มีการพัฒนากระบวนการดำเนินงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น ให้ผู้ต้องหาที่ยากจนได้รับการปล่อยตัว โดยไม่ต้องมีหลักประกัน แล้วติดตั้งอุปกรณ์ EM ที่เป็นกำไลข้อเท้าเป็นเครื่องติดตามตัวผู้ต้องหาแทนการปฏิรูประบบออนไลน์ในการนำสืบพยานในกระบวนการพิจารณาคดี การใช้ VDO Conference ในการสืบพยานต่างจังหวัด โดยไม่ต้องเข้าไปในพื้นที่

2.สํานักงานศาลรัฐธรรมนูญ เช่น การดำเนินมาตรการควบคุมกำกับติดตาม ตามรูปแบบการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) มีการมอบหมายงาน และการประเมินภายใน การกำชับเพื่อให้เกิวามเข้าใจในการปฏิบัติงาน อีกทั้งสร้างความสามัคคีในองค์กร

3.สํานักงานศาลปกครอง เช่น การจัดทำประกาศสำนักงานศาลปกครอง เรื่อง มาตรการส่งเสริมคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของสำนักงานศาลปกครอง โดยมีสาระสำคัญในเรื่องการจัดทำแผนป้องกันและปราบปรามการทุจริต การจัดให้มีคู่มือ ขั้นตอน แนวทาง มาตรการของการปฏิบัติงาน และการให้บริการผ่านเว็บไซต์ศาลปกครอง การจัดทำช่องทางแจ้งการร้องเรียน เบาะแสการทุจริตของบุคลากรภายในสำนักงาน ผ่านช่องทางออนไลน์ และระบบภายในองค์กร

4.สำนักงานอัยการสูงสุด เช่น การจัดให้มีระบบติดตามข้อมูลคดี (AGO Tracking) เป็น application ใช้ผ่านอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ จัดตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด การจัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมคุณธรรมของหน่วยงาน และจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปราม การทุจริต

5.สํานักงาน ป.ป.ท. เช่น การจัดทำรายงานการศึกษาเรื่องแนวทางและรูปแบบการกำหนดความผิดของนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตประพฤติมิชอบและผู้ร่วมกระทำความผิด

6.สํานักงานตํารวจแห่งชาติ เช่น การจัดทำแผนป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2560 – 2564 จัดทำช่องทางแจ้งการร้องเรียนร้องทุกข์ การแจ้งเบาะแสการทุจริตของข้าราชการตำรวจ ผ่านช่องทางออนไลน์ของสำนักงานจเรตำรวจ จัดทำคู่มือการพัฒนาและส่งเสริมการปฏิบัติงานเพื่อป้องกันผลประโยชน์ ทับซ้อนข้าราชการตำรวจ จัดทำคู่มือเสริมสร้างการปฏิบัติประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ

– สำหรับสำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีการเสนอใหสํานักงาน ป.ป.ช.เป็นหน่วยงานนําร่องที่จัดให้มีมาตรการ  ควบคุม กํากับติดตาม การบริหารจัดการของหน่วยงานโดยยึดหลักคุณธรรม ซื่อสัตย์สุจริตและการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี และได้มีประกาศสํานักงาน ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 เรื่อง มาตรการป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม เพื่อวางมาตรการป้องกันมิให้เกิดการกระทําผิดอันเป็นการทุจริตและประพฤติมิชอบและเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของบุคลากรภายในสํานักงาน ป.ป.ช.

 4) ปรับปรุงหลักเกณฑ์โทษปรับนิติบุคคลที่กระทำความเสียหายให้กับประเทศตามมาตรฐานสากลเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้นิติบุคคลที่กระทำความผิดได้รับการลงโทษ พร้อมทั้งพัฒนาฐานข้อมูลทะเบียนธุรกิจเพื่อสนับสนุนการเอาผิดกับนิติบุคคล และได้มีการปรับปรุงระบบฐานข้อมูลการจดทะเบียนธุรกิจของกระทรวงพาณิชย์ให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริง แบบ Real Time อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ฐานข้อมูลการจดทะเบียนนิติบุคคลมีความครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน

ทั้งนี้  สำนักงาน ป.ป.ช. มีข้อเสนอในการมีหรือแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ในส่วนที่รับผิดชอบ จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่

1.การจัดทำกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดความผิดของนิติบุคคล และผู้ร่วมกระทำความผิด ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ

สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินการจัดทำกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดความผิดของนิติบุคคล และผู้ร่วมกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 176 ซึ่งบัญญัติบทลงโทษนิติบุคคลให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 และอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศในการทำธุรกรรมทางธุรกิจระหว่างประเทศขององค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ค.ศ. 1997 เรียบร้อยแล้ว อีกทั้ง สำนักงาน ป.ป.ช. ยังได้จัดทำ  และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์คู่มือแนวทางกำหนดมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมสำหรับนิติบุคคล ในการป้องกันการให้สินบนเจ้าพนักงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศอีกด้วย จึงถือว่ามีกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดความผิดของนิติบุคคลฯ เรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ยังได้มีการศึกษาเรื่องการชะลอการดำเนินคดีอาญาในชั้นไต่สวนสำหรับนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฐานให้สินบน เพื่อยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับมาตรฐานสากลยิ่งขึ้น

2.การเร่งรัดการจัดทำพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐที่ตนสังกัดหรือปฏิบัติงานอยู่ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการตรวจสอบการร่ำรวยผิดปกติ

การเร่งรัดการจัดทำพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินฯ เพื่อเป็นฐานข้อมูลฐานะทางการเงินของเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นประโยชน์ในการป้องปรามการทุจริตและเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบเมื่อมีการร้องเรียนว่าร่ำรวยผิดปกติ รวมทั้งเป็นฐานข้อมูลเมื่อเข้าสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นและต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.

3.การเร่งรัดการจัดทำ ร่าง พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. ….

ตามแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กิจกรรมปฏิรูปที่ 4 (การพัฒนาระบบราชการไทยให้โปร่งใส ไร้ผลประโยชน์) กำหนดให้มีมาตรฐานทางจริยธรรมเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับส่วนรวมประกอบพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม  พ.ศ. 2562 ภายในปี 2564 และยกระดับเป็นกฎหมายว่าด้วยการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับส่วนรวม ภายในปี 2565

ปัจจุบันสำนักงาน ป.ป.ช. โดยคณะอนุกรรมการพิจารณายกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. … อยู่ระหว่างการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติฯ เพื่อเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการจัดทำร่างเสนอคณะกรรมการปฏิรูปประเทศได้ภายในเดือนกันยายน 2565

ในส่วนการทำมาตรฐานทางจริยธรรมเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับส่วนรวมประกอบพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 มีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ คือ สำนักงาน ก.พ.  ได้ดำเนินการจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยการบริหารบุคคลภาครัฐในระบบคุณธรรมตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ     และเร่งรัดการกำหนดวิธีการประเมิน “สัตบุรุษ” และให้บังคับใช้กับหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่มีฐานะ เป็นนิติบุคคลเป็นลำดับแรก โดยให้มีมาตรฐานทางจริยธรรมเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับส่วนรวมภายในปี 2564 และยกระดับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับส่วนรวมเป็นกฎหมาย ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาคดีต่าง ๆ จากศาลปกครองและปัญหาการบริหารบุคคล และจัดทำร่างแนวทางการจัดทำข้อกำหนดจริยธรรมของหน่วยงานรัฐเพื่อให้สอดคล้องตามพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 และประมวลจริยธรรม โดยกำหนดพฤติกรรมทางจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐในลักษณะ “ควรกระทำ”และ “ไม่ควรกระทำ” (Do and Don’t)  ให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละหน่วยงาน โดยได้หารือร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อจัดทำเนื้อหาให้ครอบคลุมหลักการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับส่วนรวม