สนค. เปิดผลการศึกษา CLMVT Forum คุ้มค่าการลงทุน สังคมได้ผลตอบแทนสูง หวังเป็นศูนย์กลางห่วงโซ่อุปทานของโลกแห่งใหม่

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผย การศึกษาผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (Social Return on Investment: SROI) บ่งชี้ชัด รัฐลงทุนจัดงาน CLMVT Forum เกิดผลผลิตสร้างคุณค่าคืนสู่สังคมสูง 4.49 เท่า และ CLMVT มีโอกาสเป็นฐานการผลิตสินค้า และศูนย์กลางห่วงโซ่อุปทานโลกแห่งใหม่

วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 สนค. กระทรวงพาณิชย์ และศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดสัมมนาออนไลน์เผยแพร่ผลการศึกษาโครงการ CLMVT Forum ผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน และการเสวนา “โอกาสใน CLMV สำหรับผู้ประกอบการไทย” โดยได้รับเกียรติจากนายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา และมี ผศ.ดร.มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์และหัวหน้าโครงการศึกษาฯ ดำเนินการสัมมนา ส่วนวิทยากรประกอบด้วย รศ.ดร.นิสิต พันธมิตร หัวหน้าศูนย์อาเซียนศึกษาและอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และนายจิรวัฒน์ เดชาเสถียร ผู้เชี่ยวชาญด้านการขาย การตลาดและการจัดการค้าปลีกค้าส่งในภูมิภาคอาเซียน มีผู้เข้าร่วมรับฟังการสัมมนารวมกว่า 250 คน

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ เปิดเผยว่า สนค. ริเริ่มจัดงาน CLMVT Forum มาตั้งแต่ปี 2559 เพื่อเป็นเวทีหารือ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นด้านนโยบายและข้อเสนอแนะระหว่างผู้แทนระดับสูงภาครัฐ ภาคเอกชนและภาควิชาการในภูมิภาค ภายใต้หัวข้อหลักที่เป็นประเด็นทางเศรษฐกิจและการค้าที่สำคัญและได้รับความสนใจในวงกว้างในขณะนั้น “ที่ผ่านมา CLMVT Forum ได้สร้างผลสัมฤทธิ์ ซึ่งเป็นประโยชน์หลายประการที่เป็นข้อเสนอ เช่น การใช้ประโยชน์ทุนมนุษย์เพื่อให้มีขีดความสามารถใช้ประโยชน์ทางการค้าในยุคดิจิทัล การบ่มเพาะและสร้างผู้ประกอบการสตาร์ทอัพเพื่อให้เป็นศูนย์กลางห่วงโซ่อุปทานของโลกแห่งใหม่ โดยเฉพาะเมื่อวิกฤติโควิด-19 และสถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครนส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบของโลก”

ในปีงบประมาณ 2565 สนค.จึงร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดำเนินการศึกษาโครงการ CLMVT Forum และผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุนเพื่อประเมินผลสำเร็จของโครงการและผลการดำเนินงานต่อเนื่องตั้งปี 2559 ถึง 2564 ว่าสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชน เศรษฐกิจและสังคมของประเทศมากน้อยเพียงใด มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในการใช้เงินงบประมาณหรือไม่ โดยข้อมูลจากการศึกษาและข้อเสนอแนะจากโครงการจะช่วยให้ สนค. สามารถปรับปรุงพัฒนาแนวทางการจัด CLMVT Forum ครั้งต่อๆ ไปในอนาคต” นายรณรงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

ผศ.ดร.มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (SROI) เป็นวิธีการประเมินผลลัพธ์และคุณค่าทางสังคม ที่พัฒนามาจากหลักการประเมินประโยชน์เทียบกับต้นทุน ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ที่นิยมใช้ประเมินการลงทุนสาธารณะของรัฐบาล และ “ผลการศึกษากรณีงาน CLMVT Forum ระบุว่า ผู้ที่เคยเข้าร่วมงาน สามารถนำผลลัพธ์ไปสร้างรายได้ การค้า การลงทุน ประเมินเป็นมูลค่าได้ถึง 308 ล้านบาท และการลงทุนใน CLMVT Forum รวมทั้งโครงการต่อเนื่อง สร้างผลตอบแทนต่อสังคมสูงถึง 4.49 เท่าของมูลค่าการลงทุน” ขณะเดียวกัน กลุ่มประเทศ CLMVT ยังได้ประโยชน์ร่วมกันอีกอย่างน้อย 4 ประการ ได้แก่

(1) เกิดความร่วมมือทางธุรกิจเป็นรูปธรรม

(2) ประหยัดค่าใช้จ่ายในการหาข้อมูลและคู่ค้า

(3) ได้รับข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้สถานการณ์เศรษฐกิจและเปิดมุมมองใหม่

(4) เสริมสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ

ทั้งนี้ ผลการศึกษามีข้อเสนอแนะว่า CLMVT Forum ควรอยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือดำเนินการในรูปแบบเดียวกับ World Economic Forum แต่อยู่ในระดับภูมิภาคอาเซียน โดยให้สมาชิกหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ และควรมีกิจกรรมหรือโครงการติดตามผลต่อเนื่องมากกว่าปีละ 1 ครั้ง ตลอดจนจัดให้มีการแสดงสินค้า การนำเสนอนวัตกรรมใหม่ นำเสนอแผนธุรกิจใหม่ การจับคู่ทางธุรกิจโดยอาจใช้ภาษาท้องถิ่นได้ในบางกิจกรรม

รศ.ดร.นิสิต พันธมิตร หัวหน้าศูนย์อาเซียนศึกษาและอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เชียงใหม่กล่าวถึง “โอกาส CLMV สำหรับผู้ประกอบการไทย” ว่า “สถานการณ์ในประเทศของเมียนมาทำให้การค้าขายกับไทยลดลง เนื่องจากสินค้าไทยไปถึงมือผู้บริโภคยากขึ้นกว่าเดิม ขณะที่ สปป.ลาว เป็นประเทศเล็ก ประชากรมีไม่มากมีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว เมื่อเกิดผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ สินค้าทุกอย่างแพงขึ้น สินค้าฟุ่มเฟือยต่าง ๆ ไม่เป็นที่สนใจของตลาด ซึ่งสถานการณ์ในลักษณะนี้ก็เกิดขึ้นในกัมพูชา แต่เวียดนามกลับมีสัญญาณบวก และเป็นประเทศที่น่าจับตามอง”

นายจิรวัฒน์ เดชาเสถียร ผู้เชี่ยวชาญด้านการขาย การตลาดและการจัดการค้าปลีกค้าส่งในภูมิภาคอาเซียนมองว่า “จำนวนประชากรสำคัญต่อการขยายตัวการค้า เพราะใน CLMV มีประชากรรวมถึง 180 ล้านคน และโอกาสของสินค้าไทยยังมีมาก แต่ทุกประเทศมีอุปสรรคจากปัจจัยภายในแตกต่างกันไป เช่น เวียดนามเป็นตลาดที่น่าสนใจของสินค้าเด็ก แต่ต้องเข้าใจช่องทางและเงื่อนไขการขายและจัดจำหน่าย”

“CLMVT Forum เป็นผลผลิตจากเงินงบประมาณของรัฐที่สามารถสร้างผลประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม สนค. จึงหวังว่า การดำเนินงานในเรื่องนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของกลไกที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่งตั้งแต่ภายในประเทศ จนมั่นคงและขยายผลต่อยอดไปสู่ภูมิภาค CLMVT อาเซียน และระบบเศรษฐกิจของโลกได้” นายรณรงค์ฯ กล่าวปิดท้าย
……………………………………………………………
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
26 พฤษภาคม 2565