สรพ. ร่วมกับ สวทช. เยี่ยมชมผลงานนวัตกรรม 2P Safety Tech รพ.หาดใหญ่

ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) และผู้อำนวยการ BIC สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เดินทางลงพื้นที่ จ.สงขลา เยี่ยมชมความคืบหน้านวัตกรรมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภายในโรงพยาบาลด้วย Digital Transformation และผลงาน ICU without walls ของโรงพยาบาลหาดใหญ่ ในโครงการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข (2P Safety Tech) ประจำปี 2565

เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2565 พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. พร้อม นางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการ BIC สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมทีมงานเดินทางลงพื้นที่ โรงพยาบาลหาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อเยี่ยมชมนวัตกรรมสำหรับแก้ไขปัญหาอุบัติการณ์ความเสี่ยงตามเป้าหมายความปลอดภัย Patient and Personnel Safety Goal (SIMPLE)2 ของโรงพยาบาลหาดใหญ่ ที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข (2P Safety Tech) ประจำปี 2565 ด้วยผลงานการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภายในโรงพยาบาลหาดใหญ่ด้วย Digital Transformation โดยศูนย์สนับสนุนการบริการทางการแพทย์ (Hatyai Hospital Supporting Medical Service Center : HYs-MEST) ในนวัตกรรมใหม่ในปี 2565 และผลงาน ICU without walls ในประเภทนวัตกรรมพัฒนาต่อยอด

พญ.ปิยวรรณ กล่าวว่า โครงการ 2P Safety Tech เป็นความร่วมมือระหว่าง สรพ. และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขตามเป้าหมายความปลอดภัย Patient and Personnel Safety Goal (SIMPLE)2 ที่สามารถใช้ได้จริง สอดคล้องกับบริบทของแต่ละโรงพยาบาล โดยในปีงบประมาณ 2565 มีโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนสมัครเข้าร่วมโครงการ 41 ผลงาน และได้รับการคัดเลือกจำนวน 20 ทีม ซึ่งโรงพยาบาลหาดใหญ่ เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่ได้รับการคัดเลือกตามโครงการนี้

“เราอยากเห็นโรงพยาบาลต่อจิ๊กซอว์กับงานนวัตกรรมที่เป็นความร่วมมือระหว่าง สรพ. และ สวทช. ซึ่งที่โรงพยาบาลหาดใหญ่นี้มีการดำเนินงานที่ดีมาก มีการพัฒนาคุณภาพในลักษณะ continuous improvement และเชื่อว่าในอนาคตเราจะเห็นอะไรดีๆ จากที่นี้มากขึ้นเรื่อยๆ” พญ.ปิยวรรณ กล่าว

ด้าน นพ.ณรงค์ศักดิ์ นาขวัญ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ ผู้รับผิดชอบผลงานการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภายในโรงพยาบาลหาดใหญ่ด้วย Digital Transformation กล่าวว่า กระบวนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์นั้นได้มีการวิเคราะห์สภาพปัญหา พบว่าโปรแกรมต่างๆที่ใช้อยู่นั้นล้าสมัย ระบบโปรแกรมเคลื่อนย้ายทางการแพทย์ ทั้งการขนส่งภายใน ขนส่งภายนอก ยังมีปัญหา ไม่มีระบบติดตามงาน ไม่มีระบบงานที่ชัดเจน ขาดทีมบริหาร ขาดการบริหารจัดการงานควบคุมครุภัณฑ์ และงานทางด้านคลินิกยังพบปัญหา ผู้ป่วยยังรอเตียงนาน เจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ควรมีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงที่ชัดเจนเพื่อใช้ในการบูรณาการ เพื่อตอบโจทย์ 4 Solution ประกอบด้วย

1.SMART HY-Display เป็นการแสดงหน้าจอกระบวนการทำงานของการขนส่ง ตั้งแต่ร้องขอจนถึงปิดงาน เพื่อให้ผู้ขอใช้บริการและผู้ป่วยได้เห็นขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน

2.SMART HY-EVALUATION เป็นนวัตกรรมการประเมินงานของเจ้าหน้าที่เปลในรูปแบบการวิเคราะห์ผ่านโปรแกรม excel และแบบเรียลไทม์ผ่าน Power BI รี

3.SMART HY-Log App เป็นนวัตกรรมที่พัฒนาจาก web-based program ให้เป็น web application เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลจากผู้ขอใช้บริการไปสู่เจ้าหน้าที่เคลื่อนย้าย

4.SMART HY-Stock เป็นระบบเปลอัจฉริยะซึ่งถูกพัฒนาจากระบบการเข้า-ออกงานของเจ้าหน้าที่ศูนย์ด้วย QR code เพื่อประโยชน์ในการดูจำนวนเปลนอนและนั่งแบบเรียลไทม์

“เราเน้นที่ส่วนของคนไข้ก่อนเพราะก่อนพัฒนาระบบ คนไข้มีระยะเวลารอคอยการเคลื่อนย้ายนาน โดยเฉพาะตอนเที่ยงเปลรอนานมาก แต่เมื่อพัฒนาระบบแล้วประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาจ่ายงาน ระยะเวลาร้องขอจากคนไข้ไปถึงเจ้าหน้าที่เปลรับงาน sequence งานมีความต่อเนื่อง ระยะเวลารอคอยการเคลื่อนย้ายลดลงเหลือ 3-5 นาที ตามระดับความฉุกเฉิน” นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าว

ด้าน พญ. ชุติมา จิระนคร นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ ผู้รับผิดชอบโครงการ ICU without walls กล่าวว่า ICU without walls คือระบบการจัดสรรเตียงห้อง ICU ที่ช่วยให้การขอเตียงไม่ซับซ้อน คำนึงถึงโอกาสการการรอดชีวิต และมีความสะดวกรวดเร็ว ติดตามผลได้ โครงการ ICU without walls มีหลักการคือ ไม่ใช่ทุกคนที่ขอแล้วต้องได้ ต้องมีการประเมินว่าจะจัดสรรเตียงให้ผู้ป่วยรายใดจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดซึ่งเป็นเรื่องยากที่สุดที่จะตัดสินใจว่าใครจะได้เตียงและได้เมื่อไหร่ ต้องพิจารณาจากปัจจัยหลายประการ

ทีมงานได้พัฒนาซอฟต์แวร์เป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 เป็นซอฟต์แวร์แสดงสถานะเตียง ICU ตามระดับความรุนแรง เพื่อการเลือกในการคงอยู่หรือย้ายออกจาก ICU ตลอดจนติดตามความก้าวหน้าการรักษา ขณะนี้พัฒนาซอฟต์แวร์เสร็จแล้วอยู่ระหว่างทดลองใช้งาน ขณะที่ซอฟต์แวร์ส่วนที่ 2 จะเป็นซอฟต์แวร์จองเตียงออนไลน์ผ่านระบบ rapid response alert หรือ คีย์ขอผ่านระบบ QR code ซึ่งเมื่อลงทะเบียนขอเตียงเข้ามาแล้ว ระบบจะประเมินวิเคราะห์จัดลำดับผู้ป่วยที่จะได้เตียง โดย matching เตียงกับผู้ป่วยตามประเภท เช่น โรคทางอายุรกรรม ศัลยกรรม โรคประจำตัว โรคปัจจุบันของผู้ป่วย หัตถการที่ต้องการใน ICU ความเสี่ยงและความรุนแรงของโรค ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบความถูกต้องเพื่อให้การจ่ายเตียงเป็นไปอย่างมีตรรกะที่เหมาะสม

“เราต้องการขยายระบบนี้ให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด ผู้ป่วยจากโรงพยาบาลชุมชนไม่ว่าอยู่ไกลแค่ไหน ก็สามารถจองคิวได้ตั้งแต่ต้นทาง และสามารถตรวจสอบได้ว่าขณะนี้สถานะเตียงเป็นอย่างไร มีคิวเท่าไหร่ คำขอที่ส่งเข้ามาถูกจัดอยู่ในลำดับที่เท่าไหร่ ส่วนในห้อง ICU ก็จะทราบสถานะคนไข้แต่ละเตียงว่าอาการเป็นอย่างไรในกรณีที่ต้องย้ายผู้ป่วยออก ทั้งหมดนี้เราหวังว่าจะทำให้คนไข้ ICU เข้าถึงเตียงได้มากขึ้น ลดอัตราตายและการใช้เตียงเกิดประโยชน์สูงสุด”นางชนัญญา กล่าว