กฟผ. จับมือ ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานและโซลูชันแห่งอนาคต

กฟผ. ร่วมกับ ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) ลงนามความร่วมมือด้านวิชาการเพื่อพัฒนาอนาคตพลังงานที่ยั่งยืน เสริมความแข็งแกร่งของบุคลากร แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เทคโนโลยีสมัยใหม่ด้านพลังงาน ต่อยอดธุรกิจและบริการด้านพลังงานในอนาคตเพื่อรองรับความต้องการที่หลากหลาย เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

เมื่อวันที่24 พฤษภาคม 2565 ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ ดร.วรวุฒิ วรุตตมพรสุ Country Managing Director ดร.ประดิษฐพงษ์ สุขสิริถาวรกุล Vice President, Marketing & Sales – Utility บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมลงนาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการเพื่อพัฒนาอนาคตพลังงานที่ยั่งยืน” โดยมีผู้บริหารทั้งสองหน่วยงานร่วมในพิธี ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร 50 ปี กฟผ. อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ในฐานะหน่วยงานหลักที่ดูแลรักษาความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศ และบริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีพลังงานระดับโลกโดยใช้ดิจิทัลในการเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ได้ร่วมมือกันเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการศึกษาวิจัยพัฒนาและการเรียนรู้ทางเทคโนโลยีด้านพลังงานให้กับบุคลากรทั้งสองหน่วยงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน

โดยแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ ข้อมูลเกี่ยวกับงานด้านระบบไฟฟ้า การพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการพัฒนาระบบผลิตและระบบส่งไฟฟ้าให้ทันสมัย ยืดหยุ่น รองรับพลังงานหมุนเวียนได้มากขึ้น หรือ Grid Modernization ซึ่งจะเป็นปัจจัยพื้นฐานในการรักษาความมั่นคง ส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลบูรณาการการทำงานของระบบไฟฟ้าร่วมกับยานยนต์ไฟฟ้า (E-Mobility) เพื่อเดินหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตลอดจนพัฒนาต่อยอดธุรกิจและบริการด้านพลังงานอย่างครบวงจรในอนาคตเพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าที่หลากหลาย โดยกรอบความร่วมมือดังกล่าวมีระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันลงนาม

ด้าน ดร.วรวุฒิ วรุตตมพรสุ Country Managing Director บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือการพัฒนางานวิชาการในครั้งนี้มีทั้งรูปแบบการถ่ายทอดความรู้ความชำนาญตลอดจนเทคโนโลยีสมัยใหม่ผ่านการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและสัมมนาออนไลน์ การเยี่ยมชมโรงงานและศึกษาดูงานในสถานที่ปฏิบัติงานจริงทั้งในประเทศและต่างประเทศของทั้งสองหน่วยงาน รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงทางพลังงาน (Energy Transition) ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ไมโครกริด (Microgrid) ระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ (BESS) การขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า (E-Mobility) ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) และอนาคตทางพลังงานที่ยั่งยืน (Sustainable Energy Future) อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในระยะยาวอีกด้วย