กระทรวงยุติธรรม โดย กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ร่วมกับ สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด บูรณาการการทำงานช่วยเหลือฟื้นฟูเด็กและเยาวชน

กระทรวงยุติธรรม โดย กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ร่วมกับ สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด บูรณาการการทำงานช่วยเหลือฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในทุกมิติ

วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 เวลา 13.30 น. กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับ สำนักงานอัยการสูงสุด จัด “พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการบูรณาการการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชน” ระหว่าง กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม และสถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายวาทิน ศรีตระกูล รองอัยการสูงสุด ร่วมเป็นประธานสักขีพยานในพิธีลงนามฯ พร้อมด้วย หม่อมหลวงศุภกิตต์ จรูญโรจน์ เลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด และ พ.ต.ท. วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ร่วมลงนาม

โอกาสนี้ ได้รับเกียรติจาก นางสันทนี ดิษยบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวรายงานถึงที่มาของความร่วมมือในการบูรณาการการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชน พร้อมด้วย นางสาวศิริประกาย วรปรีชา รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน (๑) และนางนลินนาถ ไกรนรา รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน (๓) ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติจาก สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด และผู้ตรวจราชการกรม ผู้อำนวยการ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมพิธีลงนามในครั้งนี้ด้วย ณ ห้องประชุม ๑๐-๐๑ ชั้น ๑๐ อาคารกระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ

หม่อมหลวงศุภกิตต์ จรูญโรจน์ เลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ที่มีบทบาทสำคัญในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน โดยสถาบันนิติวัชร์ เป็นสถาบันกฎหมายที่จัดตั้งขึ้นในสังกัดสำนักงานอัยการสูงสุด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยในภาพรวม และเป็นส่วนขับเคลื่อนงานยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติ ในการขจัดความรุนแรงต่อเด็กในด้านการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งที่ผ่านมาสถาบันนิติวัชร์และกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ได้มีการประสานความร่วมมือด้านกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับการแก้ไขและฟื้นฟูเด็กและเยาวชนระหว่างกันมาโดยตลอด

ประกอบกับ สถาบันนิติวัชร์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการร่วมกันแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยมุ่งสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการใด ๆ เพื่อบรรลุ เป้าหมายดังกล่าว ทั้งในด้านองค์ความรู้ นวัตกรรม และกระบวนการเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด และกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม จึงได้มีความเห็นชอบร่วมกันในการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการบูรณาการการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนในครั้งนี้ขึ้น เพื่อแสดงเจตจำนงและเป้าหมายร่วมกันในการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะนำมาซึ่งผลสัมฤทธิ์และบรรลุซึ่งเป้าหมายที่ทั้งสององค์กรมีร่วมกันในการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

พ.ต.ท. วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวถึงการลงนามครั้งนี้ว่า กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มีภารกิจหน้าที่ในการพิทักษ์คุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และดำเนินการตามคำสั่งศาล โดยมีพันธกิจในการยกระดับคุณภาพและการดูแล แก้ไข บำบัด ฟื้นฟูเด็กและเยาวชนอีกทั้งยังจัดให้ได้รับการศึกษาหรือวิชาชีพ มีกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความพร้อมในการกลับสู่สังคมและดำรงชีวิตบนพื้นฐานของความพอเพียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายสุดท้าย คือ เด็กและเยาวชนสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทัศนคติทางความคิดและจิตใจจากที่เคยก้าวพลาดกระทำผิด พร้อมทั้งพัฒนาด้านการศึกษาที่เด็กและเยาวชนเคยสูญเสียโอกาส ให้สามารถได้รับโอกาสทางด้านการศึกษา การประกอบอาชีพ การปกป้องและคุ้มครองสิทธิที่พึงได้รับอย่างสมเหตุผล ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะประสบความสำเร็จได้นั้นจำเป็นต้องบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ให้เกิดการขับเคลื่อนงานไปด้วยกัน

เด็กและเยาวชนถือเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติในอนาคตทางกรมพินิจฯ จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมในการช่วยเหลือฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมในทุกมิติ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือระหว่างกรมพินิจฯ และสถาบันนิติวัชร์ ในการสร้างเครือข่ายการทำงานระดับบริหารโดยมีกรอบความร่วมมือในการประสานงานระหว่างหน่วยงาน การจัดกิจกรรมหรือโครงการร่วมกันระหว่างหน่วยงาน

เช่น การสนับสนุนให้บุคลากรในสังกัดเข้าร่วมกิจกรรม หรือโครงการที่แต่ละฝ่ายจัดขึ้นเพื่อแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม การสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม และกระบวนการต่างๆ เพื่อแก้ไข บำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และนำองค์ความรู้ นวัตกรรม และกระบวนการดังกล่าวไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในภารกิจตามหน้าที่และอำนาจของแต่ละฝ่ายอำนาจหน้าที่ของตน และการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ ความคิดเห็น และแนวทางการปฏิบัติที่ดี รวมทั้งร่วมกันถอดบทเรียนเพื่อนำไปพัฒนาการดำเนินการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามแนวทางที่เหมาะสม

กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ขอขอบคุณสถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด ที่ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญในการบูรณาการการทำงานกับกรมพินิจฯ และมีความยินดีอย่างยิ่งที่กรมพินิจฯ และสถาบันนิติวัชร์จะร่วมมือกันในการบูรณาการการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเสมอภาค ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำและการถูกกระทำซ้ำ รวมถึงการให้ความรู้และเสริมสร้างทักษะการประกอบอาชีพให้แก่เด็กและเยาวชน โดยอยู่บนพื้นฐานของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและสามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างภาคภูมิและดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข ซึ่งถือเป็นปณิธานของทั้งสองหน่วยงานในการทำงานร่วมกัน โดยมุ่งเน้นประโยชน์สูงสุดของเด็กและเยาวชนและจะยั่งยืนต่อไปในอนาคต พ.ต.ท. วรรณพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้ การลงนามดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงเจตจำนงในการบูรณาการการทำงานร่วมกันได้อย่างเป็นรูปธรรม ใน ๓ เรื่องหลัก ได้แก่

๑. การร่วมมือกันในการประสานงานระหว่างหน่วยงาน การจัดกิจกรรมหรือโครงการร่วมกันระหว่างหน่วยงานเพื่อแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชน

๒. การร่วมมือกันในการสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ และนวัตกรรมรูปแบบการเรียนรู้

๓. การแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้การแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเกิดผลสัมฤทธิ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นการเสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะชีวิตในมิติต่างๆ ให้เด็กและเยาวชนสามารถฟื้นฟูความประพฤติและสามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีคุณภาพต่อไป