ไทย – เมียนมา กระชับความสัมพันธ์ด้านแรงงาน สร้างความมั่นใจกระบวนการจ้างแรงงานต่างชาติที่เหมาะสม ภายใต้สถานการณ์โควิด – 19 ที่กำลังคลี่คลาย

วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมาย นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ประชุมระดับวิชาการไทย – เมียนมา เกี่ยวกับการบริหารจัดการแรงงานเมียนมาในประเทศไทย ร่วมกับนายมอง มอง ตาน (U Maung Maung Than) อธิบดีกรมแรงงาน กระทรวงแรงงาน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ณ โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

โดยนายไพโรจน์ กล่าวว่า รัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมา มีความสัมพันธ์อันดี และมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด โดยเฉพาะความร่วมมือในด้านแรงงานที่มีการหารือร่วมกันในทุกระยะ เพื่อสร้างความมั่นใจในกระบวนการจ้างแรงงานที่เหมาะสม ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และการปรับมาตรการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น ภายใต้เงื่อนไขที่ประสงค์ให้แรงงานที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยต้องดำเนินการตามขั้นตอน และระยะเวลาที่กำหนด

นายไพโรจน์ ระบุว่า ที่ประชุมได้หารือร่วมกันใน 11 ประเด็น ครอบคลุมการบริหารจัดการแรงงานเมียนมาในประเทศไทย และที่อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อนำเข้าแรงงานข้ามชาติสัญชาติเมียนมามาทำงาน ตาม MOU และการนำเข้ามาทำงานบริเวณชายแดนในลักษณะไป – กลับ หรือตามฤดูกาล ตามมาตรา 64

โดยทางการเมียนมามีความห่วงใยแรงงานชาวเมียนมาที่อาจมาดำเนินการ ณ ศูนย์ CI ไม่ทันภายในกำหนด เนื่องจากศูนย์ CI สามารถให้บริการได้วันละ 650 คน ซึ่งทางการไทย โดยกระทรวงแรงงาน จะช่วยประชาสัมพันธ์ข่าวสาร เร่งรัดนายจ้างที่จ้างงานแรงงานสัญชาติเมียนมาให้เข้ามาดำเนินการ ณ ศูนย์ CI ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันความแออัดในช่วงวันท้าย ๆ ของการดำเนินการ ทั้งนี้ ทางฝ่ายไทยเชื่อมั่นว่าการประชุมหารืออย่างสร้างสรรค์และมีไมตรีจิตในครั้งนี้ จะเป็นนิมิตรหมายที่สำคัญที่จะนำไปสู่ความร่วมมือด้านแรงงานอย่างใกล้ชิดต่อไป

ด้านนายมอง มอง ตาน (U Maung Maung Than) อธิบดีกรมแรงงาน กระทรวงแรงงาน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา กล่าวว่า ขอขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ท่านสุชาติ ชมกลิ่น ที่เห็นถึงความสำคัญและผลักดันการปรับลดค่าธรรมเนียมตรวจลงตรา Visa จนที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 มีมติเห็นชอบปรับลดค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา จาก 2,000 บาท เหลือ 500 บาท