สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ร่วมเซ็นMOU กับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ยกระดับงานด้านนิติวิทยาศาสตร์เน้นพัฒนาบัณฑิตและบุคลากร-งานวิชาการแบบมีประสิทธิภาพ หวังต่อยอดใช้กับงานด้านพิสูจน์หลักฐานเพื่อให้เกิดการวินิจฉัยคดีอย่างยุติธรรม
พันตำรวจเอก ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และรองศาสตราจารย์ ดร.ชุติกาญจน์ ศรีวิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยศรี ธาราสวัสดิ์พิพัฒน์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้ร่วมลงนาม MOU บันทึกความเข้าใจผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ เพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตบัณฑิตและบุคลากรที่มีประสิทธิภาพทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ รวมทั้งการพัฒนาระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการด้านนิติวิทยาศาสตร์ให้ได้มาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับของสังคม เพื่อประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศ และยังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานวิชาการด้านนิติวิทยาศาสตร์
พันตำรวจเอก ทรงศักดิ์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2555 สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้เคยร่วมมือกันจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนางานด้านการเรียนการสอน การวิจัย การพัฒนาบุคลากร และการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศและห้องสมุด ก่อนจะสิ้นสุดผลบังคับใช้ไปในปี 2560 หลังจากนั้นทำให้เราเล็งเห็นและตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนางานวิชาการด้านนิติวิทยาศาสตร์ การศึกษาวิจัย และนวัตกรรมด้านนิติวิทยาศาสตร์ จึงเห็นพ้องร่วมจัดทำบันทึกความเข้าใจเพื่อต่อยอดความร่วมมือทางด้านวิชาการ ที่จะนำไปสู่การศึกษาวิจัย การพัฒนาระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการด้านนิติวิทยาศาสตร์ให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสังคมอย่างแท้จริง และยังเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศอย่างมากด้วย
ขณะที่ รองศาสตราจารย์ ดร.ชุติกาญจน์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ มีความสำคัญเป็นอย่างมากกับสังคมและกระบวนการยุติธรรม เราจึงเร่งศึกษาและพัฒนางานด้านนิติวิทยาศาสตร์ให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น และยังตระหนักถึงการผลิตบัณฑิตและเพื่อความร่วมมือทางวิชาการด้านการพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การวิจัยและพัฒนา รวมถึงการพัฒนาบุคลากรด้านนิติวิทยาศาสตร์ และงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อนำความรู้ดังกล่าวไปพัฒนาการพิสูจน์หลักฐานซึ่งจะช่วยสร้างความยุติธรรมให้กับการวินิจฉัยคดี
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยศรี เปิดเผยว่า ความรู้ทางนิติวิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล มีความสำคัญต่อการพิสูจน์หลักฐานซึ่งสามารถทำให้เกิดความยุติธรรมเที่ยงตรงต่อการวินิจฉัยคดี และเพื่อสนับสนุนและพัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูลและระบบข้อมูลสารสนเทศเข้าด้วยกันจึงเกิดการลงนามดังกล่าวขึ้น