สรุปประเด็น ข้อสรุปจากที่ประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (MRT) โดย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์)

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การประชุมเอเปคในช่วงเช้าวันนี้ มีหัวข้อสำคัญคือการหาข้อสรุปร่วมกันในการอยู่ร่วมกับโควิด-19 ร่วมกับอนาคต ซึ่งเป็นหัวข้อสำคัญหัวข้อหนึ่งในการประชุมเอเปคครั้งนี้ ได้ข้อสรุปจากความเห็นของรัฐมนตรีฯ และผู้แทนเขตเศรษฐกิจการค้าทาง 21 เขตเศรษฐกิจ แบ่งเป็น 7 ประเด็นหลัก

ประเด็นที่หนึ่ง ได้มีข้อเสนอในเรื่องการเคลื่อนย้ายบุคคลข้ามพรมแดน ควรมีการอำนวยความสะดวกเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะการมุ่งเน้นการเดินทางที่ปลอดภัยและการใช้ระบบที่รองรับการเดินทางติดต่อระหว่างกันให้มีความสะดวกยิ่งขึ้น

ประเด็นที่สอง ที่ประชุมมีความเห็นเรื่องการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานกับระบบโลจิสติกส์ ซึ่งหลายประเทศมีปัญหาในเรื่องการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบมาใช้ เพื่อการผลิตและวัตถุดิบที่มีราคาสูงขึ้น ควรมีการอำนวยความสะดวกในการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานเหล่านี้ด้วยระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพระหว่างกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาคเอกชนและธุรกิจต้องการเป็นพิเศษ

ประเด็นที่สาม หลายเขตเศรษฐกิจมีข้อเสนอการสนับสนุนให้มีการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะแหล่งทุนห่วงโซ่อุปทาน สำหรับทุกภาคส่วนการผลิตและภาคส่วนเศรษฐกิจโดยเฉพาะสำหรับ SMEs และ Micro SMEs กลุ่มเปราะบาง สตรี ผู้ด้อยโอกาส แรงงาน และผู้มีรายได้น้อย

ประเด็นที่สี่ หลายประเทศมีความเห็นว่า จุดยืนด้านมนุษยธรรมเพื่ออนาคต รวมทั้งสุขภาพของประชาชนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง จึงมุ่งเน้นการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงวัคซีนให้มากที่สุด รวมถึงดูแลและป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต

ประเด็นที่ห้า จะต้องจับมือกันในการมุ่งขจัดอุปสรรคทางการค้าและเปิดกว้างอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน มุ่งเน้นการสร้างกฎเกณฑ์ที่เอื้อต่อการในเวทีสากลทั้งในสถานการณ์ปัจจุบันและหลังโควิด โดยใช้เศรษฐกิจดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นอีคอมเมิร์ซหรือรูปแบบอื่นๆ ให้เป็นประโยชน์และเข้ามามีบทบาทให้มากขึ้น

ประเด็นที่หก การมุ่งเน้นให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ทุกเขตเศรษฐกิจสนับสนุนการนำ BCG Model มาใช้ รวมถึงการใช้ใน MSMEs ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการรวมทั้งการมุ่งเน้นในเรื่องสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานทางเลือกการใช้ ไฮโดรเจน เป็นต้น รวมทั้งการสนับสนุนส่งเสริมการเปิดตลาดพลังงานสะอาดต่อไป และมีเขตเศรษฐกิจหนึ่งให้ความเห็นว่าการปรับปรุงสภาพอากาศไม่มีใครทำคนเดียวได้ แต่ต้องร่วมมือกันภายใต้เอเปคและภายใต้ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) และ WTO ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปล่อยคาร์บอน การลดการอุดหนุนพลังงานดั้งเดิม หรือรูปแบบอื่นใด

และประเด็นสุดท้ายมีการพูดกัน เพื่อสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงานในกลุ่มประเทศเอเปคเกิดขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นประเด็นความเห็นที่เป็นข้อสรุปจากการหารือกันในหัวข้อการอยู่ร่วมกับโควิด-19 และอนาคตในการประชุมช่วงเช้า

—————————————
21 พฤษภาคม 2565