กรมชลประทานเตรียมความพร้อมในการรับมือน้ำหลาก หลังเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ

อธิบดีกรมชลประทาน ประชุมเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนปี 2565 หลังกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศการเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ สั่งการเฝ้าระวังพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างอย่างใกล้ชิด

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการในวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 ปริมาณฝนรวมในปีนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ย 3 % ส่วนในช่วงกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2565 ปริมาณฝนจะลดลงอาจทำให้เกิดฝนตกน้อย หลังจากนั้นฝนจะตกชุกหนาแน่นในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน 2565 โดยฤดูฝนปีนี้คาดว่าจะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย จำนวน 2 ลูก มีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ

“กรมชลประทาน ได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ทั้ง 13 มาตรการ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 โดยได้เตรียมการรับมือปัญหาอุทกภัย ด้วยการกำหนดวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ปริมาณน้ำในลำน้ำ และกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ กำหนดคน กำหนดผู้รับผิดชอบในพื้นที่ต่างๆ ที่อาจจะได้รับผลกระทบ รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานในจังหวัดต่างๆ ร่วมกันติดตามและวิเคราะห์หรือคาดการณ์สถานการณ์น้ำในลำน้ำ

รวมไปถึงการจัดสรรทรัพยากร เช่น เครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรกล รถขุด รถแทรกเตอร์ หรือเครื่องมือต่างๆ ให้มีความใช้งานอยู่เสมอ ที่สำคัญให้หมั่นตรวจสอบสภาพความมั่นคงของเขื่อน ความพร้อมใช้งานอาคารชลประทานต่างๆอยู่เสมอ หากพื้นที่ใดเกิดการชำรุด หรือเสียหายให้เร่งซ่อมแซมให้พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลาและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด” อธิบดีกรมชลประทานกล่าว

ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมและการคาดการณ์ถือเป็นหลักการสำคัญในการรับมือน้ำหลาก โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 10 – 12 โดยจะต้องติดตามสถานการณ์น้ำรวมทั้งบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในช่วงภาวะวิกฤติมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด