พด. ร่วมแสดงความยินดี เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม รับโล่รางวัลฯ พระราชทานในงานพระราชพิธีพืชมงคลฯ ปี 65

ระยะเวลากว่าสองทศวรรษ ที่หมอดินอาสาได้ปฏิบัติหน้าที่อาสาให้กับกรมพัฒนาที่ดิน นำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติเป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรในหมู่บ้าน จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันหมอดินอาสามีประจำเกือบทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ จำนวนกว่า 77,000 คน มีความรู้ความชำนาญด้านดิน การปรับปรุงฟื้นฟูดิน เข้าใจระบบการอนุรักษ์ดินและน้ำ การใช้เทคโนโลยีชีวภาพทางดิน เปรียบกับหมอที่เก่งด้านรักษาดิน จากองค์ความรู้ที่สั่งสมผ่านการอบรมผสานกับประสบการณ์ที่มี พัฒนาที่ดินของตนเองจนประสบความสำเร็จสามารถเป็นแบบอย่างให้กับเกษตรกรในพื้นที่ เกษตรกรมีความต้องการดูแลดินและที่ดินให้ประสบผลสำเร็จในอาชีพ สามารถติดต่อขอคำปรึกษาจากหมอดินอาสาในหมู่บ้านของตัวเองได้

ทุกปี กรมพัฒนาที่ดิน ได้รับมอบหมายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เป็นเจ้าภาพดำเนินการคัดเลือกเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ในสาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อยกย่อง เชิดชูเกียรติ ผลงานของเกษตรกรให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะ เป็นรางวัลต้นแบบให้กับพี่น้องเกษตรกร โดยในปี 2565 ผู้ที่ได้รับคัดเลือก ได้แก่ นายบรรจง แสนยะมูล หมอดินอาสาประจำหมู่บ้านหนองยาง ตำบลหัวขวาง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม มีผลงานเด่นด้านการ แก้ไขปัญหาเรื่องดินทราย ด้วยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ที่ผลิตได้จากวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น เช่น ถ่านไบโอชาร์จากไม้ไผ่ แกลบดิบบด โดยเฉพาะการนำเปลือกหอยไปบด เป็นการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน ซึ่งเปลือกหอยเป็นมลภาวะส่งกลิ่นเหม็นรบกวน

นายบรรจง มีพื้นที่เป็นของตนเอง จำนวน 12 ไร่ แบ่งเป็น สวนไผ่ 3 ไร่ (ไผ่ตง/ไผ่เลี้ยง) ไม้ผล 1 ไร่ 2 งาน (มะม่วง/มะนาว) สวนผสมผสาน 1 ไร่ สวนป่ายางนา 1 ไร่ แปลงข้าว/แปลงผักปลูกแบบหมุนเวียน 2 งาน ปศุสัตว์ 1 ไร่ บ่อน้ำ 2 ไร่ และ ที่อยู่อาศัย/ สิ่งปลูกสร้าง 2 ไร่ พื้นที่ทำการเกษตร อยู่บนชุดดินบ้านไผ่ (Bpi) กลุ่มชุดดินที่ 41 มีข้อจำกัด คือ ดินเป็นทรายจัด ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ขาดน้ำในฤดูแล้ง มีการชะล้างพังทลายของดิน และปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัดมากถึงกรดจัด (pH 5.0-5.5) มีการแก้ไขดินเป็นกรดโดยใช้โดโลไมท์ ปรับปรุงบำรุงดินด้วยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์สูตรมูลวัว (14:2:2:1:1 มูลวัว : เปลือกหอยบด : ปูนโดโลไมท์ : แกลบดิบบด : ถ่านไบโอชาร์จากไม้ไผ่) ร่วมกับน้ำหมักชีวภาพจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ที่ผลิตจากปลาและหอยเชอรี่ ซึ่งมีธาตุอาหารและฮอร์โมน รวมถึงใช้ปุ๋ยพืชสด และการห่มดินด้วยใบไผ่

การบริหารจัดการน้ำ มีการขุดสระน้ำ ลึก 3-5 เมตร จำนวน 2 บ่อ (เลี้ยงปลาในบ่อ) สร้างถังบรรจุน้ำขนาดความจุ 8,000 ลิตร สูง 12 เมตร และถังบรรจุน้ำขนาดความจุ 30,000 ลิตร เพื่อสำรองน้ำโดยสูบน้ำด้วยระบบโซล่าเซลล์ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ขุดบ่อบาดาล จำนวน 2 บ่อ มีการให้น้ำพืชด้วยระบบน้ำหยดและระบบสปริงเกอร์ ช่วยลดต้นทุนการผลิต

นายบรรจง แสนยะมูล กล่าวว่า “มีความตั้งใจที่อยากนำองค์ความรู้จากการผ่านงานภาคเอกชนมาปรับใช้กับภาคเกษตร เพราะเล็งเห็นว่าภาคเกษตรมีปัญหาหลายอย่าง เมืองไทยเป็นเมืองเกษตรกรรม ถ้ามีส่วนช่วยให้เกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้ คงเป็นเรื่องที่ดี ด้วยความแน่วแน่ในปณิธานที่ตั้งไว้เมื่อได้เรียนรู้ถึงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตนเองต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงก่อน ประกอบกับมีที่ดินเป็นของตนเอง จึงตัดสินใจลาออกจากงานบริษัทเอกชน กลับมาอยู่บ้านหนองยาง จังหวัดมหาสารคาม แต่ด้วยพื้นที่ดินมีปัญหาเรื่องดินทราย ขาดความอุดมสมบูรณ์สะสมมาช้านาน ชาวบ้านส่วนใหญ่เลือกที่จะปลูกพืชเชิงเดี่ยว ใช้น้ำน้อย ทำให้ดินเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ด้วยอุปสรรคที่มีมากมาย จึงค่อยๆ คิด ลงมือปฏิบัติ บันทึก สังเกต มีความเพียร อดทน เพื่อเป็นต้นแบบให้กับคนในชุมชน หลังจากได้รู้จักหน่วยงานภาคราชการ

จึงได้มีโอกาสเข้าไปสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดมหาสารคาม เพื่อขอความรู้ คำแนะนำ ในเรื่องการทำน้ำหมักชีวภาพ การทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ วิธีการบำรุงดิน ช่วยลดต้นทุนการผลิต และแนะนำโครงการขุดบ่อจิ๋ว สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่จากที่ทำเกษตรเชิงเดี่ยวมาเป็นเกษตรแบบผสมผสาน และได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่หมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน เมื่อปี พ.ศ. 2559 จนประสบความสำเร็จได้รับการคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ในสาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

เพื่อรับโล่รางวัลฯ พระราชทานในงานพระราชพิธีพืชมงคลฯ ปี 65 จากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง นับเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดและเป็นเกียรติแก่ตนเอง ครอบครัว สมาชิกกลุ่มเครือข่าย จังหวัดมหาสารคาม ถือเป็นตัวแทนรับรางวัลให้หมอดินอาสาทั่วประเทศ ขอขอบคุณทางสถานีพัฒนาที่ดินมหาสารคาม สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มอบโอกาส สนับสนุน ผลักดันให้หมอดินทุกคนมีพลังช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในชุมชน และมีกำลังใจสู้ต่อไปเพื่อพัฒนาอนุรักษ์ดินของประเทศและอาชีพเกษตรกรรม”

นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวทิ้งท้าย “ขอแสดงความยินดีกับนายบรรจง แสนยะมูล ที่ได้รับโล่รางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2565 ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายให้กำหนดรางวัลให้กับเกษตรกรเป็นรางวัลเงินสดขึ้นเป็นปีแรก โดยมอบรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศอีก 2 รางวัล เพื่อเป็นการสร้างกำลังใจแก่เกษตรกร ซึ่งกรมพัฒนาที่ดิน ได้จัดสรรเป็นรางวัลเงินสด

พร้อมมอบโล่รางวัลให้กับเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ประจำปี 2565 เกษตรกรดีเด่นระดับประเทศ สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ลำดับที่ 2) และเกษตรกรดีเด่นระดับประเทศ สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ลำดับที่ 3) โดยจะมีการมอบรางวัลต่างๆ ในวันสถาปนากรมพัฒนาที่ดิน (วันที่ 23 พฤษภาคม 2565) นี้ ณ กรมพัฒนาที่ดิน กรุงเทพฯ”