“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคคอตีบในประเทศไทย ปี 2562 มีการรายงานผู้ป่วยแล้ว จำนวน 9 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยพบผู้ป่วยใน 6 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ ยะลา สตูล ตาก สุราษฎร์ธานี และสงขลา นอกจากนี้ ยังพบว่าอัตราป่วยของโรคคอตีบปีนี้สูงขึ้น 2 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 และค่ามัธยฐาน 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2557 – 2561) โดยกลุ่มอายุแรกเกิด-9 ปี เป็นกลุ่มที่มีอัตราป่วยสูงสุด รองลงมาคือกลุ่มอายุ 10-19 ปี”
“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่ามีโอกาสจะพบผู้ป่วยโรคคอตีบเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กและเด็กวัยเรียน (แรกเกิด-9 ปี และ 10-19 ปี) ซึ่ง 2 กลุ่มอายุนี้เป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง รวมถึงในสถานที่ที่มีผู้คนอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น โรงเรียนประจำ ศูนย์เด็กเล็ก และบางพื้นที่ของประเทศที่ความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนยังไม่เพียงพอ โรคคอตีบ เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง อาการมีได้ตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงรุนแรง ผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 2-5 วัน ในช่วงแรกมักมีอาการเจ็บคอและมีไข้ หากเป็นรุนแรงผู้ป่วยจะมีแผ่นเนื้อเยื่อสีขาวหรือสีเทาที่คอหอย ซึ่งอาจอุดกั้นทางหายใจ และอาจมีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต เชื้อคอตีบสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ผ่านการสัมผัสโดยตรง ผ่านวัตถุที่เปื้อนเชื้อ หรือผ่านอากาศ ผู้รับเชื้อบางรายอาจไม่มีอาการ แต่มีเชื้อในร่างกาย สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ และการหายจากเชื้อนี้จะไม่ได้ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อครั้งถัดไป กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่า ในการป้องกันโรคนี้สามารถทำได้โดยการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ด้วยการให้วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ จึงขอให้ผู้ปกครองนำบุตรหลานไปรับวัคซีนให้ครบตามช่วงเวลาที่กำหนด และหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวัคซีน dT ครบตามเกณฑ์ นอกจากนี้ ควรสังเกตอาการของโรค หากพบว่ามีไข้ เจ็บคอ หรือมีแผ่นฝ้าขาวในช่องปาก ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว หากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422”
*******************************************************
ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค